ท่ามกลางกระแสข่าวผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังน่าเป็นห่วง ต้องลุ้นกันรายวันว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีกวันละเท่าไรนั้น เรามีข่าวดีที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ให้เราชาวไทยได้ร่วมยินดี นั่นคือการที่ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาและจัดจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในโรงงาน ได้ผนึกกำลังกับ วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ พีไอเอ็ม และพันธมิตรทางธุรกิจ ร่วมกันพัฒนา ‘หุ่นยนต์ให้บริการทางการแพทย์’ หรือ หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการบริการทางการแพทย์ (Autonomous Mobile Robot for Hospital Care Services) ขึ้น โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อแบ่งเบาภารกิจของบุคลากรทางการแพทย์ในการขนส่งอาหาร อุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ยา และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงนี้นั่นเอง
ด้วยประสิทธิภาพที่ตอบโจทย์การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งลดภาระและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ให้บุคลากรทางการแพทย์นี้เอง ทำให้ หุ่นยนต์ให้บริการทางการแพทย์ ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันพัฒนาของ 3 หน่วยงานนี้เข้าตากรรมการพิจารณา รางวัลความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม Innovation Best Award ประจำปี 2020 จากงานมหกรรมนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์แห่งสหราชอาณาจักร (IBIX) และคว้ารางวัลยิ่งใหญ่นี้มาครองในที่สุด
อัปเดตแนวคิด ก่อเกิด ‘หุ่นยนต์ให้บริการทางการแพทย์’ สร้างชื่อให้ประเทศไทย ดังไกลถึงต่างแดน
สำหรับคณะผู้สร้างสรรค์หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการบริการทางการแพทย์ ประกอบไปด้วย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ กัมมาล กุมาร ปาวา อดีตคณบดีคณะแพทย์นานาชาติศาสตร์จุฬาภรณ์ และรองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กัลยาณี คงสมจิตร ประธานกรรมการ บริษัททีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด, ดร.ธันยวัต สมใจทวีพร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์, คณิต วัลยะเพ็ชร์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และกรรมการบริษัท เบเคอร์แอนด์แม็คเค็นซี่ จำกัด และ ดร.บุษรา วงศ์รักศักดิ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรการบริหารระดับสูงเชิงบูรณาการทางการแพทย์ (บสพ.)
โดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์กัมมาล ได้ให้ข้อมูล แนวคิดตั้งต้น ที่ก่อให้เกิด การออกแบบ ‘หุ่นยนต์ให้บริการทางการแพทย์’ ตัวนี้ขึ้นว่า
“จากการได้ไปศึกษาดูงานการแพทย์ที่ประเทศจีน ได้เห็นว่ามีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อให้บริการทางการแพทย์ได้อย่างรวดเร็วมาก เช่น คนไข้สามารถทำประวัติมาจากบ้านได้ เมื่อมาถึงที่โรงพยาบาล ก็แสดงแค่ข้อความที่ทางโรงพยาบาลส่งไปยืนยันนัดมาตรวจ รักษาให้กับเจ้าหน้าที่ จากนั้นเจ้าหน้าที่สามารถส่งคนไข้ไปตามแผนกต่างๆ ไม่ต้องมารอคิวกันตั้งแต่เช้ามืด”
“นอกจากนั้น ข้อมูลของคนไข้ยังส่งต่อไปเข้าในระบบอิเลกทรอนิกส์ทันที ส่วนในขั้นตอนของการจ่ายยา ก็ใช้หุ่นยนต์ในการจัดยา ด้วยระบบอันทันสมัยที่กล่าวมานี้ ทำให้เขาให้บริการทางการแพทย์ได้อย่างรวดเร็วมาก และยังตอบสนองในด้านมาตรฐานของการรักษาได้ดีเพราะข้อมูลทุกเรื่องจะถูกรายงานไปเพื่อประเมินมาตรฐานในการรักษา ทำให้โรงพยาบาลสามารถรู้ได้ว่า คนไข้ที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเร่งด่วนมีกี่คน ต้องจัดการกับกลุ่มผู้ป่วยนี้โดยเฉพาะอย่างไร ซึ่งระบบที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ยังไม่เกิดในเมืองไทย”
“เมื่อกลับมาจากประเทศจีน ก็เกิดความคิดว่าประเทศไทยจะทำได้ไหม ทำได้อย่างไร ผมก็เก็บความคิดนี้มา จนกระทั่งเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ทาง บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชัน จำกัด ได้คิดโมเดล หุ่นยนต์ให้บริการทางการแพทย์ หรือ AGV Robot นี้ออกมา โดยเราเห็นว่า หุ่นยนต์ตัวนี้พัฒนาต่อได้ จากการใช้งานที่ต้องเชื่อมต่อกับสัญญาณ 5G และควบคุมโดยโทรศัพท์มือถือ ซึ่งทำให้เกิดการให้บริการไร้รอยต่อ คนไข้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการมาโรงพยาบาล ลดเวลาการอยู่ในโรงพยาบาล กลับไปทำมาหากิน หารายได้เพิ่มได้”
“ด้วยผลลัพธ์ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ จึงทำให้ทางทีมงานที่ร่วมกันสร้างสรรค์หุ่นยนต์ตัวนี้ขึ้นมา เห็นว่า การพัฒนา หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการบริการทางการแพทย์ ย่อมสร้างประโยชน์กับสังคมไทย วงการแพทย์ โดยรวมได้ และการได้รับรางวัลจากงาน IBIX ปี 2020 ในปีนี้ ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ และเป็นสิ่งที่มาการันตีว่านวัตกรรมที่ออกแบบ คิดค้น มาจากมันสมองของคนไทย ก็มีประสิทธิภาพ ใช้งานได้จริง ไม่แพ้นวัตกรรมจากประเทศอื่นเลย”
ด้าน ดร.ธันยวัต สมใจทวีพร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้กล่าวถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือนี้เพิ่มเติมว่า
“โดยตำแหน่งแล้ว ผมก็จะมีบทบาทในด้านการศึกษา เป็น ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ PIM มีบทบาทด้านการวางแผนพัฒนาบุคลากรและนโยบายร่วมกับ EEC รวมถึงบทบาท คณะกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติแห่งประเทศไทย (CoRE) ที่อนุมัติโดย คณะรัฐมนตรีภายใต้การดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ทำหน้าที่ด้านการวางทิศทางเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ เกี่ยวกับหุ่นยนต์ของประเทศไทย”
“ที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมจะใช้หุ่นยนต์เยอะ เดิมทีหุ่นยนต์ไม่ได้เป็นที่สนใจในวงการการแพทย์สักเท่าไหร่ พอโควิดมาจึงเกิดนวัตกรรมเยอะมาก หุ่นยนต์ผ่าตัด หุ่นยนต์เจาะเลือด หุ่นยนต์วัดความดัน ส่วนหุ่นยนต์ที่เหมาะกับประเทศไทยจริงๆ คือ หุ่นยนต์ให้บริการ ถ้าแพทย์ไปหาผู้ที่ป่วยเป็นโควิดตรงๆ ก็จะมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ หรือถ้าเป็นมะเร็ง เขาต้องใช้แร่ที่มีรังสีก็เสี่ยงต่อผู้ให้บริการ ดังนั้น ใช้หุ่นยนต์น่ะดีที่สุด”
“สำหรับรางวัล IBIX Award จากงาน International British Inventions, Innovation Exhibition (IBIX) ต้องบอกว่าเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของหลายฝ่าย รองศาสตราจารย์กัมมาล เป็น Supervisor ของโปรเจ็กต์นี้ ดร.บุษรา เป็นผู้ที่คอยประสานงาน จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการจัดหลักสูตรพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ จึงคอยให้ข้อมูลที่สำคัญด้านการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อการแพทย์”
“รวมถึงเรายังได้วิสัยทัศน์จาก คุณคณิต ซึ่งเคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี ก็จะช่วยดูเรื่องกฎหมาย Regulation กฎเกณฑ์ต่างๆ แนวทางปฏิบัติ ส่วนคุณกัลยาณี อยู่ในฐานะผู้ผลิต เป็นเจ้าของวัสดุ อุปกรณ์ ที่มาก่อร่างให้เกิดหุ่นยนต์ตัวนี้ขึ้น”
“ช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยพิสูจน์ตัวเองหลายอย่าง โดยเฉพาะสาธารณสุข นักลงทุนต่างชาติต้องคิดละว่าประเทศไหนจะเหมาะสม อีกเรื่องคือ ภูมิศาสตร์ เราได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ คนไทยมีฝีมือ และถ้าสังเกตก็จะเห็นว่า คนไทยได้รางวัลนวัตกรรมระดับโลก และรางวัล IBIX ที่ได้รับนี้ มี 40 ประเทศที่เข้าร่วมประกวด แต่มีประเทศไทยได้ประเทศเดียวในโลก”
การพัฒนา หุ่นยนต์ พลิกโฉมวงการการแพทย์ไทย ฝันที่เป็นจริงได้ แค่ร่วมมือกัน
มาถึงอีกหนึ่งท่านที่มีบทบาทในการสร้างสรรค์ หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการบริการทางการแพทย์ ให้มีประสิทธิภาพ เข้าตากรรมการจนไปคว้ารางวัลใหญ่จากงาน มหกรรมนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์แห่งสหราชอาณาจักร (IBIX) ในปีนี้มาครอง กัลยาณี คงสมจิตร ประธานกรรมการ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่เริ่มให้มุมมองในฐานะเจ้าของธุรกิจ ที่มีความตั้งใจอยากนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาและจัดจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในโรงงาน มาขยายผล สร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์ไทยและใช้งานได้จริง
“ในช่วงที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกแรก เราพบว่ามีการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อสำหรับบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก ในตอนนั้น ทาง TKK ได้มีส่วนร่วมในการบริจาคอุปกรณ์เหล่านี้ เริ่มต้นจากการบริจาคชุด PPE เจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย ซึ่งพอถึงจุดหนึ่งก็รู้สึกว่า เรามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคม และบุคลากรทางการแพทย์ได้มากกว่านั้น”
“เพราะโดยพื้นฐาน TKK ทำธุรกิจเกี่ยวกับการเป็นผู้แทนจัดจำหน่าย ติดตั้งอะไหล่ของเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหลักอยู่แล้ว เราจึงมีอุปกรณ์ครบในการสร้างหุ่นยนต์เพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ของไทย โปรเจ็กต์การออกแบบและผลิต หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการบริการทางการแพทย์ AGV ตัวนี้จึงเกิดขึ้น”
“ทั้งนี้ อุปกรณ์ วัสดุ ชิ้นส่วน ที่นำมาประกอบเป็นหุ่นยนต์ตัวนี้ ก็ล้วนเป็นอุปกรณ์คุณภาพชั้นดีที่เราขายให้กับลูกค้าของเรา ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมชั้นนำอยู่แล้ว เราจึงสามารถออกแบบ ประกอบ หุ่นยนต์ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ในการขนส่งยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ต่างๆ โดยหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ AGV ที่เราออกแบบมานี้ จะเดินบนแถบแม่เหล็ก เป็นผู้ช่วยของบุคลากรทางการแพทย์ให้ทำงานง่ายขึ้นและช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ด้วย”
“ในการคิดค้นหุ่นยนต์ AGV ตัวนี้ เรายังได้พันธมิตรที่ดี ทั้ง ศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ PIM และวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มาเป็นที่ปรึกษาในการออกแบบโดยให้แนวคิดสำคัญในการสร้างหุ่นยนต์ให้”
“เพราะ TKK อยู่ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการติดตั้งหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ ให้ภาคอุตสาหกรรมหลายด้านก็จริง แต่ ศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ก็เป็นสถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ด้านหุ่นยนต์ ส่วน วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มีความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ เมื่อทั้งสามองค์กรมาร่วมมือกัน จึงเกิดเป็นไอเดียในการสร้าง หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ AGV ที่ตอบโจทย์การนำไปใช้งานทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
“โดยวัตถุประสงค์ในการออกแบบหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์นี้ ไม่ได้ตั้งใจมาดิสรัปการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ทว่า เราตั้งใจให้หุ่นยนต์มาเป็นผู้ช่วย ช่วยลดภาระ ลดความเสี่ยงให้บุคลากรทางการแพทย์มากกว่า พวกเขา โดยให้หุ่นยนต์มาทำหน้าที่ที่ไม่ต้องใช้ทักษะของหมอและพยาบาลมากนัก ช่วยลดการสัมผัส ความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยหน้าที่นั้น คือ การขนย้าย ส่งของ อุปกรณ์ ยา เป็นต้น”
“และรางวัลที่ได้รับมานี้ คือ Innovation Best Award ก็มอบให้นวัตกรรมที่โดดเด่น โดยในปีนี้มีผู้คิดค้นนวัตกรรมจากประเทศต่างๆเสนอผลงานมากว่า 1,000 ผลงาน จาก 40 ประเทศทั่วโลก แต่ในที่สุด หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการบริการทางการแพทย์ ของเรา ก็ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลรางวัลความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมหรือ Innovation Best Award ประจำปี 2020 จากงานมหกรรมนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์แห่งสหราชอาณาจักร (IBIX) ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทยและรางวัลนี้ได้รับมาในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ถือว่าเป็นเรื่องดีที่เกิดขึ้นได้ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้”
เปิดโปรไฟล์ความโดดเด่นของ หุ่นยนต์ให้บริการทางการแพทย์ ฝีมือคนไทย สร้างชื่อไกลถึงเวที IBIX
เมื่อถามถึง คุณสมบัติอันโดดเด่นของหุ่นยนต์ให้บริการทางการแพทย์ตัวนี้ ประธานกรรมการ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้สรุปให้ฟังว่า
- ทำงานได้ 2 ระบบ ได้แก่ ขับเคลื่อนทางไกลผ่านระบบ 5G และขับเคลื่อนด้วยตนเองแบบอัตโนมัติ
- มีระบบสื่อสารทางไกลกับแพทย์แบบเรียลไทม์ผ่านหน้าจอที่ติดตั้งไว้บนตัวหุ่นยนต์ เพื่อลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์จากการสัมผัสเชื้อระหว่างการปฏิบัติงาน
- มีระบบสแกนตัวตนผู้ป่วยเพื่อปลดล็อคลิ้นชักและเพื่อป้องกันการผิดพลาดในการนำส่ง สามารถตรวจเช็คอุณหภูมิของผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องสัมผัส
- มีระบบกำจัดเชื้อโรคหลังปฏิบัติภารกิจ
“นอกจากนั้น หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ นี้ สามารถผลิตได้จริงในต้นทุนที่ไม่แพง มีการออกแบบให้ใช้งานง่าย (User friendly) คือ มีช่องยา ช่องอาหาร ที่แยกกัน และสามารถเดินกลับไปชาร์จที่แท่นแบตเตอรี่เองได้ ทุกฟังก์ชันที่กล่าวมา เมื่อผนวกกันแล้ว ก็เป็นบทพิสูจน์ถึงความสามารถที่แท้จริงของหุ่นยนต์นี้ได้ว่า สามารถใช้งานได้จริง และทุกคุณสมบัติที่กล่าวมา ก็สามารถใช้งานได้อย่างไร้รอยต่อ เป็นองค์รวม”
“โดยหุ่นยนต์ให้บริการทางการแพทย์นี้ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้วงการแพทย์และสาธารณสุขไทยในแง่ที่ พยาบาล ก็ไม่จำเป็นต้องมาทำงานที่เป็น routine ซ้ำๆ เป็นการลดภาระงาน เพื่อไปเพิ่มศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการทำงานด้านอื่น ซึ่งต้องยอมรับว่า คนงานบางส่วนอาจต้องหลุดออกไปจากวงจรการทำงานในตำแหน่งหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าคนงานเหล่านี้ต้องออกจากงาน แต่แค่พวกเขาจะต้องได้รับการ Upskill ไปทำงานที่ซับซ้อน ยากขึ้น หรือต้องใช้ทักษะ ความสามารถมากขึ้น โดยปล่อยให้งานที่ต้องทำตามกระบวนการซ้ำๆ เป็นหน้าที่ของหุ่นยนต์เท่านั้นเอง”
และนอกเหนือจากหุ่นยนต์ให้บริการทางการแพทย์ ฝีมือคนไทย ที่ประสบความสำเร็จไปสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยแล้ว เมื่อถามว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทาง TKK มีความสามารถและเชี่ยวชาญ ซึ่งเข้าไปมีบทบาทในการช่วยลดภาระ ลดความเสี่ยง ให้กับการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ได้เพิ่มเติมอีกหรือไม่ กัลยาณี ได้อัปเดตในประเด็นนี้ให้ฟังว่า
“นอกเหนือจาก Delivery Robot แล้ว ยังมีเทคโนโลยี Digital Technology Platform อีกมากมายที่เกิดขึ้นในเวลานี้ นวัตกรรมแรก นั่นคือ Vending Machine หรือ Kiosk คีออสอัจฉริยะ ซึ่งจะมาตอบโจทย์ปัญหาการที่ผู้ป่วยต้องไปนั่งรอคิวเพื่อรับการรักษาที่โรงพยาบาลตั้งแต่ตี 4 จากนี้ไป พยาบาลที่เคยต้องมาตรวจตัดกรอง วัดไข้ บันทึกเอกสาร ผู้เข้ามารับการรักษา จะไม่ต้องทำหน้าที่เหล่านี้ ให้คีออสอัจฉริยะ ที่เราพัฒนาขึ้นมาทำหน้าที่แทน แถมเมื่อเสียบบัตรแล้ว สามารถบอกข้อมูลของผู้เข้ารับการรักษานั้นได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น มีสิทธิรักษาพยาบาลแบบไหน 30 บาทรักษาทุกโรค มีสิทธิบัตรทองไหม”
“ต่อมาก็เป็น Smart Vending Machine ซึ่งเกิดขึ้นจากการพบว่าในโรงพยาบาลมีอุปกรณ์ที่ใช้แล้วสิ้นเปลืองไปเยอะมาก ถ้าจากนี้ไปเรามี Smart Vending Machine ก็จะช่วยลดขั้นตอนของการเบิกจ่ายได้ สามารถตัดสต็อกได้ทันที ซึ่งตัว Smart Vending Machine นี้สามารถติดตั้งได้ง่าย รวดเร็ว ราคาถูก”
ชี้โอกาสแห่งการพัฒนา นวัตกรรมทางการแพทย์ ให้สุดทาง ซึ่งซ่อนอยู่ในวิกฤตโควิด-19
ในประเด็นสุดท้าย กัลยาณี ยังได้ฝากไว้ว่า “เราต้องขอบคุณโควิด-19 ที่มาช่วยให้เราสามารถลดเวลาในการวิจัย ศึกษา คิดค้น สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมทางการแพทย์ขึ้นมา จาก 5-10 ปี เหลืออยู่แค่ 8 เดือน และจากนี้ไป นักคิด นักวิชาการ หรือแม้แต่คนทั่วไป ก็จะไม่หยุดคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ เพื่อค้นหาโอกาสที่ซ่อนอยู่ในวิกฤตให้เจอ”
“โดยส่วนตัวแล้ว ชอบบรรยากาศในช่วงที่เกิดสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในแง่ที่ทำให้เกิดการร่วมมือร่วมใจ ช่วยเหลือกัน ช่วยกันคิด ช่วยกันสร้าง ช่วยกันประดิษฐ์ และเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า วัฒนธรรมแบบนี้มีความสำคัญมากในฐานะตัวชี้วัดอนาคตการพัฒนาของประเทศไทย”
“เพราะตราบใดที่เรายังไม่หยุดคิด หยุดประดิษฐ์ นั่นแสดงว่าเราไม่หยุดอยู่แค่การเป็นผู้บริโภค แต่เราได้พัฒนากันไปเป็นนักคิด นักประดิษฐ์ ที่ลงมือทำ จนนวัตกรรมนั้นนำมาใช้ได้จริง ไม่ใช่แค่คิด ประดิษฐ์ และอยู่บนหิ้งเท่านั้น”
ข่าวจาก salika.co