ปิดฉากไปแล้วสำหรับจัด โครงการอบรมและแข่งขันหุ่นยนต์ Innovedex 2024 พร้อมกับความประทับใจของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้จัด ทั้ง บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด และผู้จัดร่วมอย่าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น รวมถึงทางฝั่งของผู้เข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งเป็นน้องๆนักเรียนและครูที่ปรึกษาจากโรงเรียนทั่วประเทศทั้งในระดับชั้นมัธยมต้นและมัธยมปลาย ที่ได้มาเข้าร่วมการอบรมและแข่งขันหุ่นยนต์ระดับประเทศที่ทุกคนรอคอย ซึ่งในปีนี้ งาน Innovedex ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว
โดยในปีนี้มีนักเรียนจากทั่วประเทศมาเข้าร่วมรวมทั้งหมดถึง 100 ทีม ทำให้ห้องประชุมขนาดใหญ่ที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น เล็กลงไปถนัดตา ซึ่งการอบรมและการแข่งขันหุ่นยนต์ Innovedex 2024 ในปีนี้จัดขึ้นทั้งหมด 3 วัน ระหว่างวันที่ 30-31 สิงหาคม 2567 ซึ่งเป็นวันของการอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์ เพื่อให้ความรู้เพิ่มเติมในทักษะด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยเฉพาะระบบปฏิบัติการ ROS (Robot Operating System) หรือระบบปฏิบัติการหุ่นยนต์สมัยใหม่ ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ที่เป็นโจทย์หลักของการแข่งขันหุ่นยนต์ในครั้งนี้ ที่จะจัดขึ้นต่อเนื่องในวันที่ 1 กันยายน 2567
และในปีนี้ ก็ได้ผู้ชนะในรายการแข่งขันทั้งในระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย โดยมีรายชื่อ ดังนี้
ทีมชนะเลิศ ม.ต้น ได้แก่ โรงเรียนเซนต์ดอมินิก สมาชิกทีม : เมธนันท์ หัสรังค์, ชิษณุพงศ์ ทวีโชติกิจเจริญ และ พันแสง ลิขิตวรกุล
ทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 ม.ต้น ได้แก่ โรงเรียนเทพศิรินทร์ สมาชิกทีม : อินทัช แช่มสุวรรณวงษ์, ปัณณวิชญ์ วิศวะโยธานันท์ และ ธีทัต วิชญะวิลาส
ทีมรองชนะเลิศอันดับ 2 ม.ต้น ได้แก่ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยรังสิต สมาชิกทีม : กฤตพจน์ พฤทธิพงศ์กุล, กิตติพัฒน์ ศุภศรี และ ภาวิช อุยถาวรยิ่ง
ทีมชนะเลิศ ม.ปลาย ได้แก่ DSIL ดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ มจธ. สมาชิกทีม : ปกรณ์ยศ ศิริอัครวินท์, นภัทร ยี่สุนศรี และ ฐาน์ แตระกุล
ทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 ม.ปลาย ได้แก่ โรงเรียนสายธรรมจันทร์ จ.ราชบุรี สมาชิกทีม : ณัฐวัตร สำรวยประเสริฐ, ภูวณัช เเซ่หลาย และ พลพล สุขแสง
ทีมรองชนะเลิศอันดับ 2 ม.ปลาย ได้แก่ โรงเรียนสายปัญญารังสิต สมาชิกทีม : ธนวัฒน์ สุขอัมพร, ธนวรรธน์ จุฑาภิรมย์พร และ พศิน มากเจริญ
แชร์แนวทางการจัดการของผู้จัด Innovedex 2024 กับความภาคภูมิใจที่ได้สร้างพื้นที่ให้เด็กไทยประลองฝีมือด้านหุ่นยนต์ ประกาศให้โลกรู้ว่าเด็กไทยเก่งไม่แพ้ใครในโลก
กัลยาณี คงสมจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้เน้นย้ำความตั้งใจในการจัด โครงการอบรมและแข่งขันหุ่นยนต์ Innovedex 2024 ว่า
“Innovedex เป็นชื่อของโครงการจัดอบรมและแข่งขันหุ่นยนต์ ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมเอาคำพ้องเสียง คำว่า “นวัตกรรม” (Innovation) “การทดลอง” (Experimentation) และ “การศึกษา” (Education) สะท้อนถึงจุดเน้นของโครงการที่ต้องการส่งเสริมความสามารถด้านนวัตกรรมของเยาวชนไทย ผ่านการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการในด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยการส่งเสริมให้เด็กได้ลงมือทำ ได้ทดลองจริง กับอุปกรณ์ หุ่นยนต์จริง ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการบุคลากรที่มีทักษะ ความสามารถ ด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนประเทศไปสู่ยุค Industry 4.0 ได้อย่างเป็นรูปธรรม”
“และในปีนี้ โครงการอบรมและแข่งขันหุ่นยนต์ Innovedex 2024 ทาง ทีเคเค ได้ร่วมมือกับ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งเปิดทำการเรียนการสอนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ และมีหลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนตร์และระบบอัตโนมัติแบบลีน สถาบันการศึกษาแห่งนี้จึงมีบุคลากร ทั้ง คณาจารย์ นักศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญที่สามารถให้ความรู้และเป็นพี่เลี้ยงแก่ผู้เข้าอบรมและร่วมแข่งขันในรายการนี้ได้”
ด้าน ร้อยโท ดร.ชัชรินทร์ เลิศยศบดินทร์ อาจารย์ประจำสำนักการศึกษาทหาร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นอาจารย์ในฝ่ายฝ่ายวิชาการ โครงการ Innovedex และยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งโครงการนี้ ได้กล่าวถึงความแตกต่างและมาตรฐานในการจัด โครงการอบรมและแข่งขันหุ่นยนต์ Innovedex 2024 ว่า
“จากประสบการณ์ที่เป็นทั้งผู้ที่จัดการแข่งขันและผู้เข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศไทยมา พบว่าการแข่งขันหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ผ่านมาส่วนใหญ่ มักจะกำหนดโจทย์การแข่งขันที่ไม่เชื่อมโยงกับทักษะที่ต้องใช้จริงในภาคอุตสาหกรรม จะออกเป็นในเชิงกีฬาเพื่อแข่งขันกันมากกว่า”
“และเมื่อได้มาทำงานเป็นอาจารย์ที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ได้มีประสบการณ์ด้านการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์ พบว่ามีงานวิจัยบางชิ้นยืนยันว่าการใช้หุ่นยนต์ในการศึกษาชั้นต้นยังไม่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศและยังไม่สามารถนำประเทศก้าวเข้าสู่ความเป็น 4.0 หรือความเป็น High Technology ที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการได้”
“เพราะถ้าเป็นการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ในระดับมัธยม ต้องยอมรับว่าหน่วยงานที่จัดยังไม่ได้มีการวางโจทย์การฝึกอบรมและการแข่งขันที่สอดคล้องไปกับเทรนด์ภาคอุตสาหกรรม ทั้งที่ต้องยอมรับว่าเด็กไทยมีความสามารถ มีทักษะที่ดีในด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ทว่า เวทีการแข่งขันต่างๆ ที่จัดขึ้น ไม่ได้ผลักดันให้เขาสามารถใช้ทักษะที่ได้จากเวทีนั้นไปต่อยอด สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจใน New S curve หรือ อุตสาหกรรมเป้าหมาย เท่าไรนัก”
“ดังนั้น ในการจัดโครงการอบรมและแข่งขันหุ่นยนต์ Innovedex ทุกปี โดยเฉพาะ Innovedex 2024 นี้ จึงยึดแนวทางการวางโจทย์และกติกาให้สอดคล้องกับการสร้างทักษะที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม อย่างการแข่งขันใช้แขนกลหยิบจับของในภาคอุตสาหกรรม การออกแบบซอฟแวร์ควบคุมหุ่นยนต์”
“โดยในปีนี้เป็นการจัดการอบรมและแข่งขันในหัวข้อ System Integration (SI) ซึ่งเป็นการอบรมแนวคิดการนำอุปกรณ์ต่างๆ มาแล้วใช้ความรู้ความสามารถในการสร้างสรรค์โปรแกรม นำทุกอย่างมาผนวกกันเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง โจทย์ในปีนี้จึงมุ่งเสริมสร้างทักษะการใช้ SI ร่วมกับ AI โดยกำหนดโจทย์ว่ามีโรงงานหนึ่งที่ต้องการคัดแยกวัตถุที่มีรูปแบบต่างกัน ผู้เข้าแข่งขันต้องใช้ระบบปฏิบัติการหุ่นยนต์ หรือ ROS มา Integrate ระบบต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้ระบบคัดแยกสิ่งของว่าจะแยกลงในด้านไหน ต้องมีการเอามอเตอร์ เซ็นเซอร์ กล้อง AI มาผนวกกัน แล้วแก้ไขสถานการณ์ที่กำหนดให้”
“และความพิเศษของการแข่งขัน Innovedex ทุกปี ยังอยู่ที่การกำหนดให้มีการประกาศโจทย์หรือสถานการณ์ในการแข่งขันก่อนหน้าการแข่งขันจริงแค่ 1-2 วันเท่านั้น ทำให้ครูที่ปรึกษาไม่มีเวลาช่วยนักเรียนหรือผู้เข้าแข่งขันในการออกแบบระบบเพื่อแก้โจทย์นี้ก่อนเป็นเวลานานนัก ดังนั้น Innovedex จึงถือได้ว่าเป็นการแข่งขันที่ “ปราบเซียน” ก็ว่าได้ และสามารถวัดความสามารถและทักษะในการแก้ปัญหาของผู้เข้าแข่งขันในวันงานได้เลย”
“โครงการ Innovedex จึงเป็นโครงการอบรมและการแข่งขันหุ่นยนต์ที่ค่อนข้างใหม่ในประเทศไทย แต่เราให้ความสำคัญกับการกำหนดธีมการแข่งขันในแต่ละปี อย่างที่เกริ่นมาว่า เราเน้นกำหนดโจทย์ที่เป็นการสร้างเสริมทักษะให้กับนักเรียนผู้เข้าแข่งขันได้เรียนรู้ ทำลอง ออกแบบระบบปฏิบัติการหุ่นยนต์ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี การใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งนี่เป็นแนวคิดหลักในการจัดโครงการที่ได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งที่มาจากผู้จัดการแข่งขัน นั่นคือ ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น ที่เป็นผู้นำในด้านอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของไทย รวมถึงยังมีพันธมิตรและสปอนเซอร์มากกมายในภาคอุตสาหกรรมที่มาร่วมการสนับสนุนในครั้งนี้ ดังนั้น โจทย์ที่ใช้ในการแข่งขันจึงยึดโยงกับภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก”
“ที่ผ่านมา 2 วันก่อนวันแข่งขันในวันนี้ เราได้มีการให้ความรู้และอบรมผู้เข้าแข่งขันในเรื่องระบบปฏิบัติการหุ่นยนต์ หรือ ROS ซึ่งผู้เข้าแข่งขันทั้งทีมมัธยมต้นและมัธยมปลายต่างให้ความสนใจและเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว นี่เป็นบทพิสูจน์หนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเด็กไทยถ้าตั้งใจทำและเรียนรู้กับสิ่งใดแล้ว พวกเขาจะสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองจนกระทั่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นได้ไม่ยาก”
ขณะที่ ผศ.อัญชลี สุพิทักษ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น อีกหนึ่งเจ้าภาพร่วมและสถานที่จัดโครงการอบรมและการแข่งขันหุ่นยนต์ Innovedex ในปีนี้ ได้กล่าวถึงความร่วมมือในการจัดงานปีนี้ว่า
“คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น เอง มีองค์ความรู้ และบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ ที่จะให้คำแนะนำและเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้เข้าแข่งขันและครูจากโรงเรียนต่างๆได้ ทั้งยังมีความพร้อมในด้านสถานที่ที่ใช้จัดแข่งขันอีกด้วย ดังนั้น ในปีนี้เราจึงร่วมมือกันกับทีเคเค เพื่อจัดโครงการอบรมและการแข่งขันหุ่นยนต์ Innovedex 2024 โดยการจัดงาน Innovedex ในปีนี้นับเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ได้เรียนรู้จากระบบปฏิบัติการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจริงที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกอย่าง ROS”
“โดยตลอดการจัดงาน ทาง สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ก็ได้ให้นักศึกษารวมถึงอาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์มาเป็นพี่เลี้ยงให้กับนักเรียนผู้เข้าแข่งขันอย่างใกล้ชิด พร้อมกับช่วยเป็นกรรมการในการตัดสินในครั้งนี้ด้วย”
ฟังเสียงสะท้อนจากนักเรียนและครูที่ปรึกษา กับความรู้นอกห้องเรียนที่เด็กไทยได้รับจากการเข้าร่วมโครงการอบรมและแข่งขัน Innovedex 2024
ดังที่ได้เกริ่นไว้ว่าในปีนี้มีนักเรียนจากทั่วประเทศมาเข้าร่วมการแข่งขัน Innovedex ในครั้งนี้กว่า 100 ทีม ซึ่งจากการพูดคุยกับผู้เข้าแข่งขันหลายทีมรวมถึงครูที่ปรึกษา ก็สื่อสารตรงกันว่า การอบรมและการแข่งขัน Innovedex เป็นรายการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับประเทศที่เด็กไทยต่างตั้งตารอ
อย่างทีมเจ้าของรางวัลชนะเลิศในฝั่งมัธยมศึกษาตอนปลายที่มาจากโรงเรียน DSIL ดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ มจธ. ซึ่งมีสมาชิกทีม ได้แก่ ปกรณ์ยศ ศิริอัครวินท์, นภัทร ยี่สุนศรี และ ฐาน์ แตระกุล ได้สื่อสารความในใจภายหลังทราบว่าได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันปีนี้ว่า
“ก่อนมาแข่งขันในรายการ Innovedex พวกเราได้ไปแข่งขันในหลายรายการ ที่เป็นการแข่งหุ่นยนต์เก็บของ หุ่นยนต์เดินตามเส้น มาแล้ว นอกจากนั้นยังเคยไปแข่งทำแขนกลหุ่นยนต์ที่งานบางพระแฟร์มาด้วย แต่สำหรับการแข่งขัน Innovedex ถือว่าเป็นการแข่งขันที่มีโจทย์ที่เข้าทางพวกผม เพราะเราเคยออกแบบมอเตอร์ติดเฟืองหรือสายพาน ทำให้เราคุ้นเคยกับโปรเจกต์ในแนวนี้ จึงถือว่าเป็นความโชคดีที่เรามีประสบการณ์ทางนี้มาด้วย”
“และเมื่อได้มาแข่งขันในรายการ Innovedex ปีนี้ ก็มีโอกาสได้มาเรียนรู้ ระบบปฏิบัติการ ROS ซึ่งมีความน่าสนใจมาก และเรามองว่าสิ่งที่ทำให้เราชนะในวันนี้ เพราะการศึกษา กฎ กติกา ที่ทางผู้จัดการแข่งขันได้ให้หลักการมา จากนั้นเราจะปรึกษากัน เพื่อออกแบบหุ่นยนต์ทำภารกิจตามโจทย์มาในระดับหนึ่งแล้ว เมื่อได้รับโจทย์ในรอบ Final เราก็ปรับอีกไม่มาก ก็สามารถตอบโจทย์ภารกิจที่ตั้งมาได้แล้ว”
“นอกจากนั้น อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้ทีมเราชนะ คือ การทำงานกันเป็นทีม และมองว่าเราสามคนในทีมก็มีความถนัดกันคนละแบบ อย่างในทีมของพวกเรา คนหนึ่งเก่งออกแบบ อีกคนเก่ง Mechanism ขณะที่อีกคนเก่งในเรื่องระบบไฟฟ้า ซึ่งนี่ก็เป็นส่วนผสมที่ลงตัวพอดี ที่พอมาฟอร์มเป็นทีมก็ทำให้เกิดการทำงานที่ราบรื่นมาก นอกจากนั้น อีกส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่เรา ได้ฝึกฝนมาตั้งแต่ในโรงเรียนทั้งในเรื่องการออกแบบ การทำเฟือง ตลอดช่วง 2 เทอมที่ผ่านมา”
และในโอกาสนี้เรายังได้พูดคุยกับครูที่ปรึกษาของทีมผู้ชนะเลิศในระดับมัธยมปลายด้วย โดย คุณครูชินภัท มงคลศิริวัฒนา ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับทีมนักเรียนที่ทาง โรงเรียน DSIL ดรุณสิกขาลัย ส่งมาแข่งขันในโครงการ Innovedex ปีนี้ด้วยว่า
“โรงเรียนดรุณสิขาลัยมีการวางแนวทางการจัดการเรียนการสอนเป็น Constructionism โดยใช้ Project-based Learning และเปิดโอกาสให้เด็กได้ทำโครงการเป็นหลัก ก็จะมีเด็กที่สนใจในการทำ Coding และไปรวมกลุ่มกับเพื่อน โดยในแต่ละเทอมนักเรียนก็จะคิดโครงงานขึ้นมา ซึ่งเราจะจัดแบ่งเด็กที่มีความสนใจเรียนไปตามบ้าน เช่น บ้านวิศวกรรม บ้านหมอ บ้านฟิล์ม (หรือภาพยนตร์) เป็นต้น สำหรับผมก็จะเป็นครูที่ดูแลเด็กที่อยู่ในบ้านวิศวกรรม ที่มีนักเรียนอยู่ประมาณ 20-30 คนและเมื่อทราบข่าวการจัดการแข่งขันอะไร ก็จะคัดเลือกเด็กที่มีศักยภาพมากพอมาร่วมแข่งขัน”
“สำหรับเด็ก 3 คนนี้ ก็จะเป็นนักเรียนที่มีประสบการณ์ในการแข่งขันรายการอื่นที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาแล้ว ก็จะทำให้เขาเห็นพอเห็นภาพในการได้รับโจทย์การแข่งขันและออกแบบหุ่นยนต์ขึ้นเพื่อทำภารกิจตามโจทย์นั้นได้”
“การแข่งขัน Innovedex มีความท้าทายสำหรับนักเรียนไม่น้อยเลย เพราะโจทย์ที่ตั้งมาก็มีความแตกต่างกับรายการแข่งขันอื่น และมีการกำหนดโปรแกรมหรือระบบปฏิบัติการที่ใช้ในการแข่งขันโดยเฉพาะ ซึ่งเด็กจำเป็นต้องมาเรียนรู้หน้างานระยะเวลาจำกัด ทำให้พวกเขาต้องมาแบ่งงานกันว่า ใครเป็นตัวหลักในการเรียนรู้เพื่อมาถ่ายทอด ใครจะออกแบบระบบ Mechanism ใครจะออกแบบระบบไฟฟ้า เพื่อสร้างหุ่นยนต์ที่มีประสิทธิภาพทำตามโจทย์ที่กำหนดมาให้ได้”
“นอกจากนั้น ด้วยการแข่งขัน Innovedex จะมีนักเรียนที่มาจากหลากหลายโรงเรียนทั่วประเทศ ก็เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้รู้จักเพื่อนใหม่ ได้ฝึกทักษะการสื่อสาร แลกเปลี่ยนความรู้กันโดยไม่รู้ตัว ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ทางโรงเรียนเราให้ความสำคัญในการบ่มเพาะให้กับเด็กนักเรียนไม่น้อยไปกว่า Hard skill ในด้านต่างๆ เลย”
ต่อมา เป็นทีมนักเรียนหญิงจาก โรงเรียนเทพศิรินทร์ สมุทรปราการ โดยสมาชิกในทีม ได้แก่ พิชานันท์ บุญสืบ,
สุรภา ต้นประดิษฐ์ และ สุธิมา ตรัยรัตนเทวี และมี ครูธีรภัทร เสียมไหม เป็นครูที่ปรึกษา ที่ได้เล่าถึงความประทับใจในการเข้าร่วมการแข่งขัน Innovedex ในครั้งนี้ว่า
“พวกเราได้มีโอกาสไปแข่งขันในหลายรายการ แต่พอได้ทราบข่าวการแข่งขัน Innovedex และทราบว่าเป็นการแข่งขันด้วยการใช้ระบบปฏิบัติการ ROS ก็มีความสนใจมาก เพราะได้ยินเกี่ยวกับระบบนี้มานาน แต่ยังไม่ได้มีโอกาสเรียนรู้ว่ามันทำงานอย่างไร จึงอยากจะลองสมัครเข้ามาแข่งขันเพื่อเรียนรู้และลองใช้ระบบนี้จริงด้วย”
“หลังจากได้รับโจทย์ก่อนการแข่งจริง 1 วัน เรา 3 คน ก็คุยกันในทีมเพื่อวางแผนและออกแบบ โดยเฉพาะต้องคิดกันว่าจะเขียน Coding อย่างไรเพื่อให้เชื่อมกับระบบนี้ และจะทำอย่างไรให้ ROS จับค่าและทำงานตามคำสั่งและตามโมดูลตัวนี้ และในวันนี้เมื่อได้แข่งจริง ก็ต้องยอมรับค่ะว่าเราทำผลงานได้ไม่ค่อยดีนัก แต่พวกเราตั้งใจค่ะว่าในปีหน้าเราจะไปศึกษาระบบ ROS ให้ดีมากขึ้นกว่านี้ เพราะตอนนี้เราได้เรียนรู้จากการอบรมการใช้งานในระดับพื้นฐานเท่านั้น แต่ต่อไปเราต้องเรียนรู้ควบคู่ไปกับระบบ Generative AI หรือ Gen AI ที่มาเป็นตัวช่วยด้วย ซึ่งในครั้งนี้เราไม่มีเวลาในการใช้ Gen Ai ในการช่วยมากนัก”
“การเข่งขันในครั้งนี้ นอกจากจะมีส่วนในการทำให้เราอยากพัฒนาตัวเอง เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมในการแข่งขันครั้งต่อไปแล้ว ยังมีส่วนในการช่วยฝึกฝนให้พวกเราได้ทำงานกัยเป็นทีม และรู้จักวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน เพื่อออกแบบหุ่นยนต์ ด้วยระบบ ROS ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดด้วย”
มาถึงอีกหนึ่งทีม จากโรงเรียนสายธรรมจันทร์ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ซึ่งมีสมาชิกในทีมที่ประกอบด้วย ศรัณญ์ ชัยวิชา, ถิรวัฒน์ แท่นทรัพย์ และ ภัทราภรณ์ หินขุนทด ที่กล่าวถึงความท้าทายของการมาร่วมแข่งขันในรายการนี้ว่า
“ต้องยอมรับว่าความยากของการแข่งขัน Innovedex คือ การต้องออกแบบหุ่นยนต์ด้วยการเขียน Coding ให้ได้ในเวลาจำกัด เพราะเราจะทราบโจทย์แค่ก่อนวันแข่งขันเพียงวันเดียว และเมื่อคืนทุกคนในทีมก็ไม่ได้นอนกันเลยเพราะต้องช่วยกันออกแบบหุ่นยนต์ตามโจทย์ที่ได้รับให้ได้ดีที่สุด จริงๆ แล้ว ถ้ามีโอกาสก็อยากมาร่วมการแข่งขันนี้อีกในปีหน้า แต่ก็คงไม่ได้เพราะพวกเราเรียนอยู่ในชั้น ม.6 กันแล้ว ดังนั้น อยากฝากไปถึงรุ่นน้องที่ยังมีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันนี้ว่า การแข่งขัน Innovedex เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ที่ท้าทายความสามารถของทุกคน และถ้าใครที่ชื่นชอบในการออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์ก็อยากให้มาร่วมแข่งขันกันในปีหน้า แล้วทุกคนจะได้รับประสบการณ์ดีๆ กลับไปแน่นอน”
ทั้งนี้ นอกเหนือจากผู้เข้าแข่งขันที่เป็นนักเรียนไทยที่มาเข้าร่วมโครงการ Innovedex ในปีนี้ยังมีเยาวชนจากประเทศอินเดียบินลัดฟ้ามาร่วมการแข่งขันนี้โดยเฉพาะด้วย โดย 3 คุณแม่และคุณลูก ได้แก่ Iyana Ramraika, Viaan Ramraika และ NehaDivya Ramraika ได้มาเข้าร่วมการแข่งขันในระดับมัธยมต้น ซึ่งจากการพูดคุยกับทั้ง 3 ท่าน เราก็ได้รับรู้ว่าโจทย์ที่ได้รับในการแข่งขันหุ่นยนต์ Innovedex มีความพิเศษและท้าทายความสามารถของพวกเขามาก และในประเทศอินเดียเอง ก็ยังไม่มีการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ในรูปแบบที่ Innovedex นี้จัดขึ้น เขาจึงอยากเข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้ด้วยและในการจัดปีหน้า ก็จะกลับไปฝึกฝนฝีมือและทักษะเพื่อมาเข้าร่วมการแข่งขันอีกครั้งแน่นอน
Innovedex เป็นมากกว่าการแข่งขัน เพราะช่วยจุดประกายและเปลี่ยนให้เด็กไทยกลับมาอยู่บนเส้นทางการพัฒนาศักยภาพตัวเองในด้านหุ่นยนต์
นอกจากนั้น จากการได้พูดคุยกับครูที่ปรึกษาที่พานักเรียนมาร่วมแข่งขันในโครงการ Innovedex ครูหลายคนยังได้บอกเล่าให้ฟังถึงนักเรียนที่ได้เข้าร่วมโครงการ Innovedex ซึ่งเกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีกับเด็กด้วย เริ่มจาก ครูปภัสรินทร์ ภานุอริยะเกียรติ จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี ที่กล่าวว่า
“จากการได้พูดคุยกับนักเรียน นักเรียนที่ครูพามาเข้าร่วมการแข่งขันในปีนี้ ทุกคนต่างบอกตรงกันว่าอยากที่จะเข้ามาร่วมการแข่งขันนี้อีกในปีหน้า และจะกลับไปเตรียมตัวให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับระบบปฏิบัติการและแนวทางการออกแบบหุ่นยนต์ให้ปฏิบัติภารกิจตามโจทย์”
“ดังนั้น ในฐานะครูที่ปรึกษา จึงมองว่า การแข่งขัน Innovedex มีส่วนอย่างมากในการกระตุ้นเด็กไทยที่มีความสนใจในด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้เรียนรู้ทักษะและเทคโนโลยีใหม่ๆในเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งในปีนี้นักเรียนบางทีมก็อาจจะมีความผิดหวัง เสียใจ บ้าง ที่ยังไม่สามารถทำผลงานได้อย่างที่คาด แต่ครูรับรู้ได้ถึงความใจสู้ และความตั้งใจที่จะกลับไปฝึกฝนและมาเข้าร่วมแข่งขันในปีหน้าอีกแน่นอน”
ด้าน ครูชัญญาวีร์ เซี่ยงหว๊อง จาก โรงเรียนสารสาสน์วิเทศ บางบัวทอง ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า
“สำหรับการแข่งขัน Innovedex นี้ ทางนักเรียนเป็นคนเดินมาบอกคุณครูเองเลยว่าอยากมาแข่งขันในรายการนี้ และพอครูได้พานักเรียนมาร่วมโครงการแข่งขันนี้ ก็เห็นเลยว่ามีความแตกต่างจากการแข่งขันอื่นมาก เพราะการแข่งขันนี้เปิดกว้างให้เด็กสามารถใช้อุปกรณ์อะไรก็ได้แบบไม่จำกัดในการมาออกแบบหุ่นยนต์ แต่มีโจทย์ให้นักเรียนคิดเป็นลำดับขั้นตอนว่าจะแยกสิ่งของที่มีลักษณะแตกต่างกันออกมาได้อย่างไร ซึ่งมีส่วนทำให้นักเรียนได้ฝึกทักษะ Critical Thinking และคิดแบบ Logical นอกจากนั้นยังเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนได้มีโปรไฟล์ในการร่วมแข่งขันหุ่นยนต์ระดับประเทศด้วย”
“ขณะที่ มีนักเรียนในทีมคนหนึ่ง ซึ่งเดิมเป็นเด็กติดเกมและคุณพ่อ คุณแม่ ก็มาปรึกษากับครูว่ามีความเป็นห่วงเขามาก แต่พอเขาได้เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกในทีมที่มาแข่งขันที่ Innovedex ตอนนี้เขาเปลี่ยนตัวเองได้ จากเด็กติดเกมมาให้ความสนใจในเรื่องของหุ่นยนต์นี้แทน ตรงนี้ครูจึงมองว่า Innovedex เป็นมากกว่าการแข่งขัน เพราะการได้มาเข้าร่วมการแข่งขัน ยังเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันให้เด็กไทยพัฒนาตัวเองได้ถูกทางอีกด้วย”
และครูที่ปรึกษาอีกท่านที่พานักเรียนมาจากโรงเรียนเมืองพัทยา 1 (มัธยมสาธิตพัทยา) จ.ชลบุรี ครูกิตติพงษ์ พัตตาสิงห์ ได้ยืนยันอีกเสียงถึงประโยชน์ของการเข้าร่วมแข่งขัน Innovedex ว่า
“ต้องยอมรับว่าทักษะด้านหุ่นยนต์ที่เด็กได้เรียนรู้ไปจากการแข่งขัน Innovedex นี้เป็นทักษะที่แปลกใหม่และท้าทายที่เขาไม่เคยได้เรียนรู้จากการแข่งขันหุ่นยนต์ในรายการไหน โดยทักษะพื้นฐานที่เขามีคือการเขียน Coding แต่ในรายการนี้จะทำให้เขารู้ว่า การเขียน Coding ของเขาจะนำไปปรับใช้กับอะไรได้บ้าง เช่น การใช้กล้องเพื่อตรวจจับสี รูปร่างของสิ่งของ จากนั้นใช้อุปกรณ์ในการปัดเพื่อคัดแยกสิ่งของให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นการฝึกทั้งทักษะด้านหุ่นยนต์ และทักษะในการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่ออกแบบหุ่นยนต์ และทักษะในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปในเวลาเดียวกัน”
ข่าวจาก salika.co