ภายในงาน Manufacturing Expo 2024 มหกรรมเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่อการผลิต ที่จัดขึ้นที่ไบเทคบางนา ไปเมื่อเร็วๆ นี้ นอกเหนือจากการเปิดพื้นที่ให้บุคลากร ผู้ประกอบการ จากภาคอุตสาหกรรมได้เข้าชมและอัปเดตความรู้จากเทคโนโลยีและเครื่องจักรอุตสาหกรรมรวมกว่า 2,000 แบรนด์จาก 30 ประเทศทั่วโลกแล้ว ในงานเดียวกันนี้ ยังมีการเติมอาหารสมองด้วยสุดยอดสัมมนาทางวิชาการกว่า 50 หัวข้อ

โดยหนึ่งในหัวข้อที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานไม่น้อย คือ การสัมมนาในหัวข้อ “Revolutionizing Production the Future of Smart Manufacturing พลิกโฉมการผลิตภาคอุตสาหกรรม ด้วยระบบอัจฉริยะ” ซึ่งมี Speaker ผู้ทรงคุณวุฒิจากบริษัทชั้นนำทั้งในระดับประเทศและระดับโลก มาร่วมแชร์ประสบการณ์การใช้เทคโนโลยีและโซลูชั่น Smart Manufacturing ในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้ทันสมัย เพิ่ม Productivity ให้กับธุรกิจอย่างยั่งยืน

ดร.นิพัทธ์ รัศมีโกเมน ผู้จัดการทั่วไป บริษัท พีทีที เรส จำกัด

เปิดตัว 4 Speakers ร่วมแชร์ประสบการณ์ใช้ระบบอัจฉริยะพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรม เดินหน้าสู่ระบบการผลิต 4.0

วงเสวนาในครั้งนี้ เริ่มต้นด้วย ดร.นิพัทธ์ รัศมีโกเมน ผู้จัดการทั่วไป บริษัท พีทีที เรส จำกัด ที่ได้เริ่มแนะนำ พีทีทีเรส ให้กับผู้เข้าร่วมฟังสัมมนาอย่างย่อๆ ก่อนว่า

“บริษัท พีทีทีเรส จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง กลุ่ม ปตท. และ กลุ่มมิตซุย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจอยู่ในประเทศไทยมานาน และเมื่อกลุ่ม ปตท. ต้องการทำธุรกิจใหม่ กับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นภาคอุตสาหกรรม S-curve ที่ต้องการปรับกระบวนการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง AI ระบบออโตเมชั่น หรือหุ่นยนต์ พีทีทีเรส จึงก่อตั้งขึ้นมาและทำหน้าที่ในฐานะ System Integrator ให้กับลูกค้าที่มีความต้องการวางระบบหุ่นยนต์ ระบบออโตเมชั่น AI หรือ IoT ในกระบวนการผลิต โดยเรามีลูกค้าทั้งในส่วนของกลุ่ม ปตท. เอง รวมถึงลูกค้าที่เป็นองค์กร หน่วยงาน ที่มีการนำเทคโนโลยีในลักษณะนี้ไปใช้ในกระบวนการผลิตเช่นกัน”

“และเนื่องจากธุรกิจด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัตินี้เป็นธุรกิจใหม่ที่ ปตท. เล็งเห็นว่ามีศักยภาพในการเติบโต ในช่วงต้น เราก็ได้วางแผนทำธุรกิจด้วยการทำงานร่วมกับผู้ให้บริการที่เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีทั้งในและต่างประเทศ ยกตัวอย่างในวันนี้ ก็ได้มาร่วมวงเสวนากับพันธมิตรของเรา อย่าง บริษัท เด็นโซ่ อินโนเวทีฟ แมนูแฟคเจอริ่ง โซลูชั่น เอเชีย จำกัด และ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นต้น”

กัลยาณี คงสมจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ต่อมา กัลยาณี คงสมจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด อีกหนึ่งบริษัท System Integrator (SI) สัญชาติไทย ได้เกริ่นเพื่อแนะนำบริษัทย่อๆ ว่า

“ในวันนี้ TKK Corporation ได้วางกลยุทธ์ ก้าวสู่ TKK Group ซึ่งมีบริษัทในเครือที่มีความพร้อมเป็น System Integrator หรือ SI สัญชาติไทยครบวงจร ที่จะเคียงข้างภาคการผลิตของไทย ช่วยยกระดับให้อุตสาหกรรมไทยเดินหน้าสู่ อุตสาหกรรม 4.0 หรือ Digital Industry ได้ในเร็ววัน”

“โดย TKK Group แบ่งธุรกิจออกเป็น 2 กลุ่ม ซึ่งเราให้ความสำคัญไม่แพ้กัน โดยกลุ่มแรก คือ TKK Corporation ที่ทำ Smart Industrial Equipment and Automation ทั้งหมด ส่วนกลุ่มที่สองเป็นฝั่ง Digital Technology Products ซึ่งเราตั้งบริษัทในเครือ คือ บริษัท KSI Solution จำกัด ถือหุ้นโดย TKK และที่ผ่านมาการทำงานของ KSI ได้รับการยอมรับจากผู้ประกอบการทุกระดับ เพราะเรามีทีมวิศวกร ทีมโปรแกรมเมอร์ ทำให้เรามีศักยภาพเป็นบริษัท SI ที่ลูกค้าทุกระดับไว้วางใจมาโดยตลอด”

“ดังนั้น พูดได้เลยว่า ทีเคเค เรามีความพร้อมมากที่จะเป็นพาร์ทเนอร์หรือที่ปรึกษาให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย ด้วยประสบการณ์ในการเป็นผู้แทนจำหน่ายอะไหล่ Spare part รวมถึง Factory Automation Equipment โดยเราเป็นผู้แทนจำหน่ายแบรนด์ที่เป็น Agent Brand ที่มีชื่อเสียงในระดับโลกกว่า 50 แบรนด์ โดยที่ผ่านมา ทีเคเค มี Supply chain สามารถนำสินค้าเข้ามาในต้นทุนถูกมาก และเรามีระบบการทำ Stock ที่พร้อมในการจัดส่ง แบบ 24/7”

“ต้องยอมรับว่าเป็นความโชคดีที่เราจับทิศทางของธุรกิจที่ถูกต้อง ทำให้ธุรกิจของเราสอดรับกับกระแสโลกดิจิทัลปัจจุบัน และเทรนด์การพัฒนาของภาคการผลิตและอุตสาหกรรมที่กำลังพัฒนาไปสู่ อุตสาหกรรม 4.0 ในหลากหลายมิติ”

พิภักดิ์ จรูญลักษณ์คนา รองผู้จัดการทั่วไปโรงงานหนึ่ง บริษัท ซีพีแรม จำกัด

มาถึงอีกหนึ่งผู้นำอุตสาหกรรมผลิตอาหารแปรรูปรายใหญ่ของไทย นั่นคือ ซีพีแรม โดยในสัมมนาครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก พิภักดิ์ จรูญลักษณ์คนา รองผู้จัดการทั่วไปโรงงานหนึ่ง บริษัท ซีพีแรม จำกัด ที่กล่าวแนะนำให้ทุกคนเห็นภาพร่วมกันกับการดำเนินถึงอุตสาหกรรมการผลิตอาหารแปรรูปของ ซีพีแรม ว่า

“ซีพีแรม เป็นบริษัทหนึ่งในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ทำการผลิตและจัดจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทาน และเบเกอรี่อบสด ซีพีแรมตั้งปณิธานที่จะส่งมอบอาหาร รสชาติดี มีรสนิยม และให้คุณค่าทางโภชนาการ โดยมุ่งมั่นสร้างสรรค์คุณภาพด้วยการผลิตมาตรฐานโลก และมีหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของตนเอง ธุรกิจของเราครอบคลุมทั้งการเป็นผู้ผลิตให้กับแบรนด์ชั้นนำทั่วโลก และการพัฒนาแบรนด์ของเราเอง”

“ปัจจุบันซีพีแรมประกอบด้วย 2 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน ผลิตและจัดจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทานแช่เยือกแข็งและแช่เย็น ซึ่งเป็นอาหารที่ผ่านกระบวนการทำให้สุกและพร้อมรับประทาน ผ่านกรรมวิธีแช่เยือกแข็งและแช่เย็น จึงคงคุณภาพความสดใหม่และคุณค่าทางอาหาร เพียงแต่นำอาหารมาอุ่นให้ร้อน ก็สามารถนำมารับประทานได้ทันที โดยส่งออกและจำหน่ายในประเทศ”

“และอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ที่ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เบเกอรี่อบสด ประเภทสแน็คเบเกอรี่ หรือเบเกอรี่พร้อมรับประทาน นับร้อยชนิดต่อวัน ทุกผลิตภัณฑ์ได้รับการควบคุม เอาใจใส่อย่างพิถีพิถัน ตั้งแต่การวิจัยพัฒนาคัดสรรสูตร และส่วนผสมที่ดีที่สุดผ่านกรรมวิธีการผลิตที่ควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอน และโรงงานทุกสาขา เพื่อให้ได้ความอร่อย และความสดใหม่ภายใต้คุณภาพ และมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ”

“โดยในการผลิตนั้น แน่นอนว่าเราใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในการผลิตเป็นหลัก เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ตอบสนองการผลิตจำนวนมากในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งสำหรับซีพีแรม ในตอนนี้เรามีทั้งหมด 16 โรงงาน ใน 7 โลเคชั่น ทั่วไทย เพื่อผลิตอาหารและส่งไปขายในรูปแบบของอาหารที่สดใหม่ทั่วประเทศไทยในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นเป็นหลัก”

วิวัฒน์ พันธ์สระ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เด็นโซ่ อินโนเวทีฟ แมนูแฟคเจอริ่ง โซลูชั่น เอเชีย จำกัด

และ Speaker ท่านต่อไปที่จะมาแชร์ประสบการณ์ในการพลิกโฉมการผลิตภาคอุตสาหกรรมสู่ Smart Manufacturing คือ วิวัฒน์ พันธ์สระ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เด็นโซ่ อินโนเวทีฟ แมนูแฟคเจอริ่ง โซลูชั่น เอเชีย จำกัด โดยได้กล่าวชัดเจนว่า

“ประเทศไทย เป็นโรงงานผลิตแห่งแรกที่ลงทุนในต่างประเทศ นอกประเทศญี่ปุ่นของเด็นโซ่ ด้วยเป้าหมายชัดเจนในการขยายการลงทุน เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดรถยนต์ในประเทศและเตรียมความพร้อมสู่ความเป็นศูนย์กลางของตลาดรถยนต์ในภูมิภาคอาเซียน โดยกลุ่มบริษัทเด็นโซ่ประเทศไทยทั้ง 10 บริษัท พัฒนาระบบการผลิตอย่างเป็นระบบ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย และด้วยวิสัยทัศน์ของการลงทุนเพื่อก้าวสู่ศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคอาเซียน”

“นอกจากการเป็นผู้นำในด้านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ สินค้า และบริการ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์แล้ว เด็นโซ่ยังให้บริการแก้ไขปัญหาด้านอุตสาหกรรมกับโรงงานทั่วโลก โดยการใช้เทคโนโลยีด้านการผลิตและทักษะที่ได้รับการพัฒนาด้านการผลิตชิ้นส่วนแบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ของการปฏิบัติเพื่อพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement) ตามแนวทาง “KAIZEN””

“จากการพัฒนาเทคโนโลยีที่ผ่านมา เด็นโซ่ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนา “คน” ควบคู่ไปด้วย เพราะเราเชื่อว่า การพัฒนาคนคือพื้นฐานของการพัฒนาเทคโนโลยี เพราะผลิตภัณฑ์หรือ Products ที่ดีขององค์กร เกิดจากทักษะ ความรู้ ความสามารถ ของ “คน” ที่ดี”

“โดยล่าสุด เด็นโซ่ ได้คิดค้น โซลูชั่น D-QiTs ขึ้น โดยได้ออกแบบให้แอปพลิเคชั่นนี้สามารถนำข้อมูลมา Visualize เพื่อสร้าง Awareness หรือกระตุ้นให้ผู้ใช้งานเครื่องจักรในสายการผลิตเห็นถึงความผิดปกติของสายการผลิตและเข้าใจถึงต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ใช้เกิดไอเดียในการแก้ปัญหาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิต ด้วยการโชว์ภาพรวมของฟังก์ชั่นผลลัพธ์ความก้าวหน้าในการผลิต (Production Progress) และ ปริมาณการผลิต (Production Volume) เป็นรายชั่วโมงเพื่อให้คนทำงานอยู่หน้างานมีความเข้าใจสถานการณ์ภาพรวมแบบเรียลไทม์ว่าสามารถผลิตได้ตามแผนหรือไม่”

แชร์มุมมองที่นำไปปรับใช้ได้จริง เพื่อขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยสู่ Smart Manufacturing จาก 4 บริษัทชั้นนำ

หลังจากได้รู้จักกับ 4 บริษัทชั้นนำ ที่จะมาแชร์ประสบการณ์การใช้ระบบอัจฉริยะ พลิกโฉมอุตสาหกรรมสู่ Smart Manufacturing แล้ว ต่อมาเราจะได้มาถอดบทเรียนสำคัญจากผู้บริหารของทั้ง 4 บริษัท กับมุมมองที่น่าสนใจที่สามารถนำไปปรับใช้ยกระดับภาคการผลิตของไทยสู่ Industry 4.0 ทั้งระบบได้จริง

เริ่มจาก คุณพิภักดิ์ ผู้บริหารจาก ซีพีแรม ที่มาแชร์ประสบการณ์และความท้าทายที่ภาคการผลิตอาหารของ ซีพีแรม เจอ พร้อมถอดบทเรียนการก้าวข้ามผ่านทุกอุปสรรค จนในวันนี้เป็นผู้นำของอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและอาหารแปรรูปของไทยที่ได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

“สำหรับซีพีแรม ในปีนี้เราเปิดกิจการมาได้ 36 ปีแล้ว โดยในช่วงแรกเริ่มที่ผลิตสินค้า สินค้าแรกที่ทางซีพีแรมทำ คือ ขนมจีบ ซาลาเปา แน่นอนว่าย้อนกลับไปในช่วงเริ่มแรก เราใช้แรงงานคนในการขึ้นรูป จากนั้นเราจึงค่อยๆปรับเอาเครื่องจักรและเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามา ยกตัวอย่าง เครื่องจักรแรกที่เรานำมาใช้ คือ เครื่องขึ้นรูปซาลาเปา จากการที่เราใช้คนในการปั้นเพื่อขึ้นรูป แล้วจับจีบ วางบนกระดาษ จากนั้น ก็ค่อยๆเปลี่ยนจากเครื่องจักรที่ใช้เดี่ยวๆ แค่ 1 เครื่อง แล้วออกแบบเป็นไลน์การผลิตโดยใช้ระบบอัตโนมัติ เชื่อมโยงด้วยสายพาน”

“และจากการที่เรามีการเรียนรู้และให้ความสำคัญกับการปรับเอาระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในไลน์การผลิตอย่างต่อเนื่องและเจาะลึก ถึงกระบวนการ วัตถุดิบ ต่างๆ จึงนำสู่การเริ่มพัฒนาและออกแบบเครื่องจักรเป็นของเราเองขึ้น เช่น การผลิตซาลาเปา ต้องมีขั้นตอนหลักๆ คือ การขึ้นฟู การนึ่ง และแช่แข็งก่อนบรรจุ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องทำให้ได้เยอะที่สุด เร็วที่สุด และสัมผัสน้อยที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงของการปนเปื้อนจากคน ทำให้เกิดความปลอดภัยกับผู้บริโภค ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทางบริษัทให้ความสำคัญ นั่นคือ Food safety นั่นเอง”

“ดังนั้น การใช้ระบบอัตโนมัติ เข้ามาปรับใช้ในกระบวนการผลิตอาหารให้เรา จึงตอบโจทย์โดยตรงในด้านการทำให้เกิด Food safety และการสร้างคุณภาพให้กับสินค้าของเรา ทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ในสินค้าของซีพีแรม จนมาในปัจจุบัน เรามีการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตอาหาร อย่าง ในการผลิตคัพเค้ก ซึ่งในระดับอุตสาหกรรม เราต้องผลิตเป็นจำนวนมหาศาล ไม่น้อยกว่า 1 แสนชิ้น แน่นอนว่าตรงนี้เทคโนโลยีช่วยเราได้มาก แต่สำหรับ ซีพีแรม เราต้องนำเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีนั้นมาออกแบบและทดลอง จนแน่ใจว่าเหมาะสมกับกระบวนการผลิตของเรา และทำให้เกิด Performance ที่ดีที่สุด ก่อให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายมากที่สุด”

“ขณะที่ การ Educate ให้คนทำงาน ยอมรับและเปิดใจกับการปรับเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ เครื่องจักร หรือระบบอัตโนมัติมาใช้ ก็เป็นอีกเรื่องที่มีความท้าทายมากของ ซีพีแรม เช่นกัน”

ด้าน ดร.นิพัทธ์ จากบริษัท พีทีทีเรส ได้แชร์มุมมองน่าสนใจว่า “ที่ผ่านมา เราต้องยอมรับว่า การปรับเอาเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต ผู้ประกอบการหรือใครหลายคนอาจมองว่าเป็นทางเลือกที่จะนำมาปรับใช้ก็ได้หรือไม่นำมาปรับใช้ก็ได้ แต่ในวันนี้ มองว่า เมื่อประเทศไทย หรือเทรนด์โลก กำลังปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การนำเอาเทคโนโลยีล้ำสมัย ไม่ว่าจะเป็น หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ หรือ AI, IoT มาปรับใช้ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไปแล้ว เพราะถ้าสถานประกอบการไหนไม่ปรับตัวในด้านนี้ นั่นเท่ากับว่าคุณก็ไม่สามารถแข่งกับคนอื่นได้เช่นกัน”

“ดังนั้น ก็จะโยงมาที่เรื่องคนว่าเจ้าของกิจการที่มีไลน์การผลิตก็ต้องปรับ Mindset ตัวเองก่อนว่า การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตโดยการปรับเอาเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ เป็นสิ่งที่จำเป็น และเมื่อ Mindset นี้เกิดขึ้นแล้ว ก็จะนำไปสู่การเตรียมคน การฝึกอบรมคน ให้มีทักษะความสามารถในการทำงานร่วมกับเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีเหล่านี้เอง”

“นอกจากนั้น ทุกวันนี้ ในประเด็นเรื่องการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะ ความรู้ ความสามารถในด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ก็ต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่ Manufacturing 4.0 เพราะที่ผ่านมา การผลิตกำลังคนในด้านนี้ อาจผลิตออกมาไม่เพียงพอ หรือผลิตออกมาก็มีทักษะไม่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม”

“ดังนั้น ในเรื่องนี้ ในฐานะที่เราเป็นบริษัท System Integrator หรือ บริษัท SI ของ กลุ่ม ปตท. ผมมองว่าเป็นเรื่องที่เราต้องส่งเสริมและสนับสนุน และก็เป็นที่น่ายินดีที่ในตอนนี้ทางภาคการศึกษาก็ปรับตัว มาร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อร่วมกันปรับหลักสูตร ผลิตคนร่วมกัน ขณะที่ มีการ Upskill Reskill ให้กับคนที่ทำงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรมให้มีทักษะในด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ AI และ IoT ซึ่งการสร้างอีโคซิสเตมนี้เองที่จะช่วยขับเคลื่อนให้การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเดินไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศและเทรนด์โลกในยุคดิจิทัลได้”

มาถึง คุณวิวัฒน์ ผู้บริหารจากเด็นโซ่ ได้แชร์ความคิดเห็นในฐานะผู้คิดค้นเทคโนโลยีและโซลูชั่นที่ช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเดินหน้าไปสู่ Industry 4.0 ว่า

“มาตรฐานของประเทศที่จะเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมในระดับโลก ควรมีบริษัท SI ที่อยู่ในหลัก 1,000 บริษัทขึ้นไป ทว่าในประเทศไทยเราตอนนี้ ยังมีบริษัท SI อยู่ในระดับ 100 บริษัทเท่านั้น ดังนั้น นี่คือโจทย์ที่ท้าทายว่า เราจะลบจุดด้อย หรือ Pain Point ในจุดนี้ได้อย่างไร เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่ Industry 4.0”

“ขณะที่ ต้องยอมรับว่า ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยโดยรวมยังไม่คุ้นเคยกับระบบอัตโนมัติมากนัก หรือภาพที่นึกถึงก็จะนึกถึงเทคโนโลยีสำเร็จรูปที่ซื้อมาจากบริษัทต่างประเทศ แล้วนำมาติดตั้ง พร้อมใช้ได้เลย แต่จริงๆ แล้ว ทิศทางการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของไทยไม่ควรเป็นเช่นนั้น โดยต้องมีการสนับสนุนให้ทุกโรงงาน ทุกบริษัท คิดค้นและออกแบบเทคโนโลยีขึ้นมาใช้เอง”

“เพราะจากประสบการณ์การพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาใช้เองมาตลอด 70 ปี และเราเริ่มทำหุ่นยนต์ใช้เองได้ตั้งแต่เมื่อ 50 ปีที่แล้ว และจากนั้นเราก็พัฒนา ต่อยอด เป็นหุ่นยนต์ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถนำมาจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ และมาในวันนี้ เราให้ความสำคัญกับการปรับเอาเทคโนโลยี IoT มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม เป็น Visualize IoT อย่างโซลูชั่น D-QiTs ที่ได้เกริ่นแนะนำไปแล้ว ซึ่งเราได้ทำการทดลอง ทดสอบ พัฒนา จนมั่นใจในระบบ แล้วจึงได้ต่อยอดผลิตภัณฑ์ เพื่อส่งต่อให้ทางภาคอุตสาหกรรมนำไปปรับใช้เพื่อเพิ่ม Productivity ต่อไป”

และได้เวลามาฟังมุมมองของผู้บริหารหญิงแกร่ง จาก ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น โดย คุณกัลยาณี ได้กล่าวในประเด็นที่น่าสนใจว่า

“และวันนี้ ในฐานะที่ ทีเคเค เป็นบริษัทสัญชาติไทย ถือหุ้นโดยคนไทย 100 เปอร์เซ็นต์ เรามั่นใจว่าทุกสิ่งที่เราทำจะต่อยอดสู่ความร่วมมือเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงกันได้ ซึ่งจะช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมไม่ว่าจะระดับไหนก็ตามไปสู่ Smart Manufacturing ได้อย่างแน่นอน ด้วยการวางโมเดลเป็นสามเหลี่ยมปิรามิด ที่ประกอบด้วย Machining หรือ เครื่องจักรทันสมัย ไล่มาเป็นส่วนกลางของปิรามิด ที่เป็นหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และส่วนยอดที่เป็น IoT ซึ่งนำสู่ภาพใหญ่ในการพัฒนา เราคิดว่าการแข่งขันสามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศ และสามารถใช้ความได้เปรียบนี้ไปเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศได้อย่างแน่นอน”

“อย่างในตอนนี้ศักยภาพของ หุ่นยนต์ AI และเทคโนโลยี Visualization ก็ได้เทรนด์ใหม่ขึ้นมาในภาคอุตสาหกรรม เป็นการปรับเอา Smart Robot AI มาใช้ ซึ่งมีฟังก์ชั่น AI Camera และ AI Vision ซึ่งมีการทำงานง่ายมาก ไม่จะเป็นต้องมีการเขียน Code หรือโปรแกรม แต่สามารถจัดการกับชิ้นงานที่จัดวางมาแบบใดก็ได้โดยใช้ Cobot ซึ่งนวัตกรรมล้ำสมัยชิ้นนี้ได้พัฒนาขึ้นได้แล้วโดย KSI Solution บริษัทในเครือทีเคเค และมีภาคอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ที่ทำรถยนต์ไปใช้แล้ว ซึ่งนับเป็นการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนราคาก็จับต้องได้”

“เทรนด์ต่อมาที่อยากยกตัวอย่าง คือ เทรนด์ AMR ที่ย่อมาจาก Autonomous Mobile Robot เป็นหุ่นยนต์ที่เคลื่อนที่ได้ และใช้งานได้จริงในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะงานในด้านของการเคลื่อนย้าย โลจิสติกส์ ซึ่งในปัจจุบันหุ่นยนต์ตัวนี้ได้รับการตอบรับที่ดีมาก เนื่องจากมาช่วยแรงงานคนได้ในเรื่องของการยกของหนัก”

“และสุดท้าย อยากฝากให้จับตามองในเรื่องของการปรับเอาเทคโนโลยี IoT มาใช้ในการจัดการกับข้อมูลหรือ Data ของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเทรนด์เทคโนโลยีนี้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อจากนี้ไป และขอย้ำถึง 3 keywords ที่ทุกคนต้องพูดถึงและจะมีอิทธิพลต่อการพัฒนาและเปลี่ยนโฉมภาคอุตสาหกรรมนับแต่นี้ไป คือ Digital / Green / Revolution โดย Digital หมายถึง Generative AI, Cyber Security ไปจนถึงระบบออโตเมชั่นต่างๆ ส่วน คำว่า Green หมายถึงการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม โดยคำนึงถึงเรื่อง การใช้พลังงานให้คุ้มค่า Net Zero Emission หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเป็นศูนย์ และ Revolution คือ การปฏิวัติต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรมนั่นเอง”


ข่าวจาก salika.co