นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เรานำเสนอเรื่องราวของ หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ของไทย ให้ทุกคนได้อัปเดตกัน เพราะสิ่งที่ต้องการเน้นย้ำและถ่ายทอด คือ ความสามารถของคนไทยในการผลิตหุ่นยนต์นั้นไม่เป็นสองรองชาติใดแล้ว โดยเฉพาะในยุคที่เกิดวิกฤตโรคระบาด ซึ่งเป็นตัวแปรที่มาเร่งให้ทุกฝ่ายต้องหันมาร่วมมือกัน เพื่อคิดค้น นวัตกรรม ที่มีคุณสมบัติหลักในการช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องทำงานอย่างเต็มกำลังในช่วงนี้
โดยที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต่างระดมสมองคิดค้นและสร้าง หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ ขึ้นหลากหลายรูปแบบ ซึ่งส่วนใหญ่มีจุดประสงค์หลักในด้านป้องกัน ลดความเสี่ยง ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ตลอดช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ด้วย
หนึ่งในนั้น เป็นหุ่นยนต์ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของภาคสถาบันการศึกษาและบริษัทเอกชน ซึ่งได้นำไปใช้ในโรงพยาบาลสนาม เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระ แพทย์ พยาบาล ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระลอกที่ผ่านมา นั่นคือ หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ของไทย หรือ หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการบริการทางการแพทย์ (Autonomous Mobile Robot for Hospital Care Services) ที่คิดค้นขึ้นโดย บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาและจัดจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในโรงงาน, วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM)
ทั้งนี้ เมื่อช่วงต้นปี 2021 เราได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับความเป็นมาของหุ่นยนต์ตัวนี้ เมื่อครั้งไปคว้ารางวัลระดับโลก นั่นคือ รางวัลความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม Innovation Best Award ประจำปี 2020 จากงานมหกรรมนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์แห่งสหราชอาณาจักร (IBIX) มาครองได้สำเร็จ
มาวันนี้ แนวคิดในการพัฒนา หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการบริการทางการแพทย์ ตัวนี้ ได้รับการยอมรับว่าสามารถนำไปปรับใช้ช่วยเหลือภาคการแพทย์และสาธารณสุขไทยได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น การันตีด้วยรางวัลระดับชาติมาครองอีกหนึ่งรางวัล นั่นคือ Prime Minister Award: Innovation for Crisis ประเภทหน่วยงานภาคเอกชน (Private Sector)
ทั้งนี้ รางวัลนี้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดงาน Prime Minister Award : National Startup 2021 และ Innovation for Crisis ที่ภายในงานมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มาเป็นประธานในพิธีและผู้มอบรางวัลอันทรงเกียรตินี้
หลังจากได้รับรางวัลที่มีคุณค่าระดับชาติมาครอง ทีมผู้คิดค้นและสร้าง หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการบริการทางการแพทย์ จึงได้มาสื่อสารให้ทราบถึงแนวคิดในการสร้างหุ่นยนต์ตัวนี้เพิ่มเติมพร้อมเผยถึง Key success factor นั่นคือ ความร่วมมือของทุกฝ่าย ที่จะช่วยยกระดับมาตรฐาน หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ของไทย ให้เทียบเท่าสากลได้
ไม่หยุดแค่สร้าง แต่พัฒนาแนวคิด Cell concept ส่ง หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ของไทย ให้ไปได้ไกลกว่าเดิม
เริ่มต้นจากการไปฟังแนวคิดที่น่าสนใจจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการให้แนวทางและสร้าง หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการบริการทางการแพทย์ ที่ได้รับรางวัลนี้ นั่นคือ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ กัมมาล กุมาร ปาวา อดีตคณบดีคณะแพทย์นานาชาติศาสตร์จุฬาภรณ์ และรองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มาอัปเดตถึงแนวคิดล่าสุดที่ทำให้ หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ของไทย เวอร์ชั่นนี้ สามารถคว้ารางวัลระดับชาตินี้มาได้
“หุ่นยนต์ตัวแรกที่ทาง TKK ได้รับรางวัล IBIX มานั้น เกิดขึ้นจากการรวบรวมความคิดในการสร้างหุ่นยนต์ในประเทศเพื่อใช้เอง โดยใช้วัสดุ อุปกรณ์ และทรัพยากรที่มีอยู่ จากนั้นจึงลงมือออกแบบเป็นหุ่นยนต์ขนาดใหญ่ เรียกว่า Heavy Duty แบกรับน้ำหนักได้ 150 กก. ซึ่งสามารถช่วยแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ในการทำงานที่ต้องขนส่งของที่หนักได้”
“มาในครั้งนี้ เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ให้บริการทางการแพทย์ที่ตอบโจทย์การใช้งานของบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น ทางทีมงานจึงได้กลับไปวิเคราะห์งานของโรงพยาบาล โดยไปดูรายละเอียดการทำงานของคนทำงานจริง หรือโฟลว์งานของพวกเขาว่าแท้จริงแล้วคืออะไร”
“เราพบว่า มีงานที่ไม่ใช่งานของหมอ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่แต่พวกเขาต้องมาทำ ซึ่งทำให้เสียเวลาในการทำงานหลักที่สำคัญไปอย่างน่าเสียดาย โดยงานเหล่านี้สามารถจัดสรรให้หุ่นยนต์ทำแทนได้ หลายงานเป็นงานที่ต้องทำเหมือนเดิมทุกวัน อาจทำให้คนทำงานเกิดความล้า แต่ถ้าให้หุ่นยนต์ หุ่นยนต์มีข้อดีที่ไม่เหนื่อยล้า แถมบริการได้ 24 ชม.”
“ด้วยเหตุนี้เราจึงนำเสนอแนวคิด Cell concept ที่ใช้ในการพัฒนาหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการบริการทางการแพทย์ เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุดขึ้น เพื่อมุ่งเน้นช่วยงานบุคลากรทางการแพทย์ให้ครอบคลุมมากขึ้น”
“โดย Cell Concept เป็นการ Integrate หรือเชื่อมโยงการทำงานของหุ่นยนต์เข้ากับระบบปฏิบัติงานปกติ ซึ่งได้ปรับเอาหลักของ Lean Management มาใช้ในการการวิเคราะห์งานที่ไม่จำเป็นออกและถ่ายโอนไปให้หุ่นยนต์ทำแทน”
“เช่น พยาบาลต้องไปเช็กสต๊อกของ ยา อุปกรณ์ เครื่องมือการแพทย์ ซึ่งด้วยความเหนื่อยล้า อาจทำให้เกิดความผิดพลาดในงานได้ งานเหล่านี้จึงควรให้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติทำ แล้วกำหนดให้บุคลากรทางการแพทย์ไปทำงานที่ต้องอาศัยทักษะวิชาชีพ แพทย์ พยาบาลมากขึ้น ถ้าทำได้ย่อมทำให้ได้ผลลัพธ์ในการทำงานสูงขึ้น”
“ส่วนในการออกแบบหุ่นยนต์ เราเสนอแนวคิดในการออกแบบที่ล้ำสมัยขึ้น ด้วยการใส่ AI ที่เปรียบเหมือนมันสมองเข้าไปในหุ่นยนต์ด้วย สอง ทำให้ตัวหุ่นยนต์มีน้ำหนักเบา สามารถขนของได้ประมาณ 40 กก. ต่างกับรุ่นแรกที่มีขนาดใหญ่เพื่อขนของได้หนักกว่า โดย AI ที่ใส่เพิ่มเข้าไป ทำให้ผู้ใช้สามารถพูดคุยกับหุ่นยนต์ได้ ตรวจเช็คผลลัพธ์ของการทำงานของหุ่นยนต์ได้ว่า ทำถูกต้องตามคำสั่งหรือไม่ ขณะเดียวกัน หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์เวอร์ชั่นใหม่นี้ยังสามารถทำ Face Recognition ได้ ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาขั้นต่อไปอีก”
โดยในโอกาสนี้ รศ.นพ.กัมมาล ได้เสนอ แนวคิดในการออกแบบ หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ของไทย ให้มีมาตรฐาน ตอบโจทย์การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ว่าต้องมีหลักการต่อไปนี้
Seamless ใช้งานได้แบบไร้รอยต่อ
ที่ผ่านมา มีหุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นมาแล้ว อาจยังไม่ได้นำไปใช้งาน เหตุผลหลักส่วนหนึ่งเป็นเพราะหุ่นยนต์นั้นไม่ได้รับการเชื่อมต่อให้เข้ากับระบบหรือเครื่องมือ อุปกรณ์ ตลอดจนโปรแกรมหรือซอฟแวร์ต่างๆ เรียกได้ว่าหุ่นยนต์เหล่านั้นยังเป็น “ตัวเดียวอันเดียว” ซึ่งถ้าก้าวผ่านข้อจำกัดนี้ไปได้ จะมีส่วนช่วยลดขั้นตอนและเป็นการใช้งานหุ่นยนต์นั้นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
Touchless ลดการสัมผัสลงให้ได้
ทุกวันนี้ เมื่อต้องมาโรงพยาบาล ผู้มาใช้บริการยังต้องเสี่ยงกับขั้นตอนการเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่ต้องสัมผัสอยู่ ซึ่งนั่น ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ดังนั้น หุ่นยนต์ให้บริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ ควรต้องออกแบบมาให้เป็นเทคโนโลยีแบบ Touchless หรือไร้การสัมผัส โดยใช้การสั่งการด้วยเสียงหรือเซนเซอร์ด้วยมือแทน
Timeless ลดเวลาการนั่งรอคิวเข้ารับบริการ
ปัจจุบัน ผู้เข้ารับบริการที่โรงพยาบาลโดยเฉพาะโรงพยาบาลของรัฐ หลายคนยังคงต้องไปนั่งรอคิวตั้งแต่เช้ามืด เพื่อให้ได้เข้ารับการตรวจในวันนั้น ซึ่งถ้าอ้างอิง
mybotตามงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ระบุว่า คนไปโรงพยาบาล 1 คน ใช้จ่ายเงิน 1,000 บาท ไม่รวมค่ายา แต่นี่เป็นค่ารถ ค่าอาหารการกิน ไม่รวมค่าเสียโอกาสจากการไม่ได้ไปทำงาน
ตรงนี้จึงเกิดคำถามว่า เราจะทำให้ผู้ป่วยรอคิวน้อยลงได้ไหม ซึ่งถ้าทำได้ยังเป็นการช่วยลดความแออัดและความเสี่ยงในการติดเชื้อที่โรงพยาบาลได้ แถมผู้ป่วยและญาติก็สามารถเดินทางกลับไปทำมาหากินได้อย่างรวดเร็ว โดยตรงนี้สามารถนำหุ่นยนต์มาช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ด้วยการใช้หุ่นยนต์และระบบ AI ในการบริหารจัดการ ทั้งต้อนรับ รับคิว และเดินนำทางผู้ป่วยไปยังห้องตรวจ เป็นต้น
Flawless ความผิดพลาดต่ำสุด
แน่นอนว่างานหลายงานอาจต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ ความชำนาญของมนุษย์ ทว่า ยังมีอีกหลายงานที่ถ้ามนุษย์ทำ อาจเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ แต่ถ้าใช้หุ่นยนต์ควบคู่กับเทคโนโลยีล้ำสมัยต่างๆ กลับจะช่วยให้งานเหล่านั้นถูกต้อง แม่นยำมากขึ้น
Paperless ลดการใช้กระดาษ รักษ์โลก
การปรับเอาหุ่นยนต์เข้ามาช่วยทำงานในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล จะต้องมีส่วนในการช่วยลดการใช้เอกสารกระดาษ โดยเปลี่ยนไปเป็นการใช้เอกสารซึ่งได้รับการเก็บไว้ในรูปแบบไฟล์เอกสารอิเล็กทรอนิกส์แทน
วิกฤตโรคระบาด สร้างโอกาสพัฒนา หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ของไทย ให้เก่งขึ้น
ด้าน ดร.ธันยวัต สมใจทวีพร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้ให้มุมมองเพิ่มเติมถึงโอกาสที่มาพร้อมกับวิกฤตโรคระบาด ที่ทำให้วงการการสร้าง หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ของไทย ให้พัฒนาไปได้แบบก้าวกระโดดว่า
“ต้องบอกว่าวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้นนี้ ถ้ามองในด้านบวก ก็ต้องพูดว่า “มันเจ๋งมาก” ที่พอเกิดวิกฤตการณ์ปุ๊บ สถาบันและหน่วยงานต่างๆก็สามารถปรับเอาเทคโนโลยีมาสร้างทั้งหุ่นยนต์รวมถึงนวัตกรรมต่างๆ เพื่อรับมือกับวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ได้อย่างทันท่วงที นี่แสดงถึงการเรียนรู้และพัฒนาไม่หยุดยั้งของนักคิดที่อยู่ในทุกภาคส่วนของไทย ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เราได้เรียนรู้การปรับเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้รับมือวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อวงการแพทย์และสาธารณสุขไทย”
“โดยนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมานั้น ก็มีโอกาสได้นำมาปรับใช้ในทันที ซึ่งผู้คิดค้นก็สามารถไปติดตามผลว่าเมื่อใช้แล้ว ผู้ใช้มีฟีดแบกกลับมาว่าอย่างไร ตรงนี้จึงก่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เช่น วิธีการใช้งานซับซ้อนไปหรือไม่ ถ้าซับซ้อนจะทำอย่างไรให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น เป็นต้น”
นอกจากนั้น ดร.ธันยวัต ยังได้กล่าวถึงแนวคิดในการพัฒนา หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการบริการทางการแพทย์ ที่ได้ร่วมมือกันคิดค้นและสร้างขึ้นกับทาง มหาวิทยาลัยธรรรมศาสตร์ และบริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด เพิ่มเติมด้วยว่า
“รางวัล Prime Minister Award นี้จัดขึ้นทุกปี โดยในปีนี้กำหนดธีมว่าเป็น Innovation for Crisis หรือนวัตกรรมสู้วิกฤต ซึ่งแนวคิดในการสร้างหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการบริการทางการแพทย์ตัวนี้ ก็สอดคล้องตรงกันกับธีมของงาน คือ นวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้สู้กับโควิด แบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ได้จริง”
“รวมถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณายังดูด้วยว่า เมื่อวิกฤตโควิดคลี่คลาย นวัตกรรมและแนวคิดในการสร้างนวัตกรรมนั้นยังสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาต่อได้หรือไม่ ซึ่งก็ชัดเจนว่า หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการบริการทางการแพทย์ นี้สามารถนำไปพัฒนาต่อเป็น หุ่นยนต์ให้บริการทางการแพทย์ที่ใช้งานในภาวะปกติได้ด้วย”
“โดยในการนำเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณารางวัล Prime Minister Award : Innovation for Crisis ในปีนี้ เราได้นำเสนอเป็นแนวคิด Cell concept ที่จะนำไปปรับใช้ในการวางระบบบเทคโนโลยีในโรงพยาบาลสมัยใหม่ หรือ Digital Hospital ซึ่งเป็นโรงพยาบาล โดยหุ่นยนต์เป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญ ที่จะช่วยยกระดับ พัฒนา Digital Hospital ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้อย่างแท้จริง”
“และอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผลงาน หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการบริการทางการแพทย์ ได้รับรางวัลในครั้งนี้ นั่นคือ หุ่นยนต์ตัวนี้ได้ถูกนำไปใช้จริงแล้วในโรงพยาบาลสนาม อย่าง โรงพยาบาลลสนามบุษราคัม เป็นต้น และมีแผนการที่จะนำไปใช้ในโรงพยาบาลอีกหลายแห่ง ซึ่งนั่นเป็นการตอกย้ำอีกว่า แนวคิดที่ใช้ในการสร้างหุ่นยนต์นี้สามารถสร้างหุ่นยนต์ที่ใช้งานได้จริง แบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ได้จริง”
“นอกจากนั้น การสร้างหุ่นยนต์ให้บริการทางการแพทย์ของเราครั้งนี้ ยังมีกระบวนการเรียนรู้ พัฒนา อย่างต่อเนื่อง จากหุ่นยนต์ตัวแรก ที่เป็นการสร้างในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งเน้นให้มีความแข็งแรง จึงมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก จากนั้น เมื่อเราได้รับฟีดแบกจากผู้ใช้งาน และมีความร่วมมือกับทางต่างประเทศ ก็มีแนวทางที่จะพัฒนาต่อยอดให้หุ่นยนต์นี้เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน หรือ User Friendly มากขึ้น โดยพยายามคงแนวคิดเดิม คือ การให้บริการ หรือ เซอร์วิส ให้กับบุคลากรทางการแพทย์เหมือนเดิม”
ความร่วมมือกัน คือ Key success ที่มีคุณค่ามากกว่ารางวัลใดๆ
อีกหนึ่งภาคส่วนสำคัญ ที่ทำให้โปรเจกต์ดีๆนี้ประสบความสำเร็จและกวาดรางวัลทั้งในและต่างประเทศมาได้ คือ กัลยาณี คงสมจิตร ประธานกรรมการ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ตัวแทนภาคเอกชน ซึ่งจะมากล่าวถึงอีกหนึ่ง Key Success ของนวัตกรรมหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ฝีมือคนไทย นั่นคือ ความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนนั่นเอง
“1 ใน 5 เกณฑ์ตัดสิน รางวัล Prime Minister Award : : Innovation for Crisis ที่หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการบริการทางการแพทย์ ได้คะแนนสูงสุดก็คือ ความร่วมมือและการประสานกันระหว่างเครือข่ายในแต่ละภาคส่วน ทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสถาบันการศึกษา โดยรางวัลนี้นับเป็นรางวัลอันทรงเกียรติ ที่สถาบันนวัตกรรมแห่งชาติต้องการให้กำลังใจกับผู้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อประเทศไทยในช่วงสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น”
“นอกจากนั้น เกณฑ์การพิจารณารางวัลนี้ค่อนข้างเด่นชัดและชัดเจนมาก โดยเฉพาะการพิจารณาว่านวัตกรรมนั้นต้องสามารถนำไปปรับใช้เพื่อเป็นประโยชน์ในการต่อสู้กับวิกฤตโควิดได้จริง ช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์หรือประชาชนที่เดือดร้อนได้”
“นวัตกรรมชิ้นนี้ ได้พิสูจน์แล้วว่าทั้งแนวคิดในการสร้างและประสิทธิภาพของหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ที่สร้างขึ้นนั้นสามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง จากที่เป็นหุ่นยนต์ AGV ที่ขับเคลื่อนผ่านทางเส้นแถบแม่เหล็ก กลายมาเป็นหุ่นยนต์ AMR คือ Autonomous Mobile Robot สามารถเดินโดยรอบพื้นที่ 2,000 ตร.ม.ได้ ด้วยต้นทุนการผลิตที่ถูกลงด้วย นี่จึงกลายเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งที่ทำให้เราคว้ารางวัลนี้ได้สำเร็จ”
“และรางวัลที่เราได้รับมาทั้งจากเวทีนานาชาติและเวทีระดับประเทศนี้ ยังเป็นสิ่งที่การันตีว่าเป็นหุ่นยนต์ที่คิดค้นและผลิตโดยคนไทยมีประสิทธิภาพไม่แพ้หุ่นยนต์ชาติใดในโลก ซึ่งการก้าวข้ามข้อจำกัดนี้ยังเป็นการช่วยชาติลดงบประมาณของแผ่นดินลงได้อีกทางหนึ่งด้วย”
“เพราะที่ผ่านมา หุ่นยนต์ให้บริการทางการแพทย์ส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่ทันทีที่คนไทยสามารถประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาได้เอง ต้นทุนตรงนี้จึงถูกลงอย่างมหาศาล โดยกระบวนการในการสร้าง ออกแบบ และผลิต ของเราก็ได้มาตรฐาน รวมถึงฟังก์ชันในการทำงาน สามารถแข่งขันในระดับโลกได้แล้ว”
สุดท้าย ซีอีโอของ ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น ได้ย้ำถึงคีย์เวิร์ดสำคัญ คือ ความร่วมมือ ที่สามารถต่อยอดใหเกิดนวัตกรรมดีๆ ให้สังคมไทยว่า
“ในวันนี้ สิ่งที่เราต่อยอดมันไม่ใช่แค่การทำ CSR ของบริษัท หรือองค์กรหน่วยใดหน่วยหนึ่ง แต่มันเป็นเรื่องของการเอาหุ่นยนต์มาพัฒนาต่อยอดเพิ่มศักยภาพให้มัน เพื่อให้เกิดการ Cross industry ระหว่างอุตสาหกรรมโรงงานกับโรงพยาบาล มีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้น ด้วยการ Collaborative Networking สร้างเครือข่ายความร่วมมือที่มีความเชื่อมโยงสอดประสานกันได้นั่นเอง”
“ในการพัฒนาประเทศชาติปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าการ Synergy กันระหว่างจุดแข็งของแต่ละภาคส่วนสำคัญมาก อย่างการที่ ทีเคเค ร่วมมือกับ สถาบันปัญญาภิวัฒน์ ซึ่งมีบุคลากรทั้งคณาจารย์และนักศึกษาที่มีความรู้เฉพาะทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ส่วนทีเคเคเองก็มีอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ มีประสบการณ์ในด้านสินค้าต่าง ๆ และเทคโนโลยีมากมาย ขณะที่ธรรมศาสตร์เองก็มี Know how เรื่องการแพทย์ พอมี 3 สิ่งนี้ ทุกฝ่ายเลยไม่ได้ใช้เงิน แต่ใช้ใจ ใช้ขุมกำลังความรู้ที่มีทั้งหมดใส่ลงไป หุ่นยนต์ให้บริการทางการแพทย์ตัวต้นแบบจึงถูกสร้างขึ้นมาได้สำเร็จ”
“จากตัวต้นแบบก็ได้รับการพัฒนาต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนวันนี้เราจะทำโรงพยาบาลอัจฉริยะ หรือ Digital Hospital ซึ่งเกิดขึ้นจริงแล้วที่ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ตั้งอยู่ใน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC โรงพยาบาลแห่งนี้ถือเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของประเทศไทยเราเลย มีความล้ำสมัยมากๆ ทุกอย่างจะเป็นดิจิทัลหมด และเชื่อมั่นว่า โรงพยาบาลแห่งนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแค่รับเป็นเจ้าภาพแล้วก็ทำอยู่ฝ่ายเดียว เพราะฉะนั้นคำว่า Collaborative Networking ณ วันนี้จึงมีความหมายที่ลึกซึ้งมากขึ้นเรื่อยๆ”
ข่าวจาก salika.co