หนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ในช่วงที่ผ่านมาได้รับความสนใจไม่น้อยหนีไม่พ้น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทย ซึ่งประเทศไทยเองมีศักยภาพทั้งเป็นผู้ออกแบบ ผลิตหุ่นยนต์เอง และเป็นตลาดสำคัญของหุ่นยนต์ในภูมิภาคอาเซียน โดยประเทศไทยใช้หุ่นยนต์ในภาคการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน ซึ่งข้อมูลทางสถิตินี้เป็นตัวชี้วัดได้เป็นอย่างดีว่าประเทศไทยได้มีการปรับตัวเข้าสู่ภาคการผลิตยุคใหม่ ตามแนวทาง Industry 4.0 ก้าวสู่การเป็นผู้นำในภาคอุตสาหกรรมสมัยใหม่แล้ว

โดย อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทย มีความสำคัญมาก เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่จะมาพลิกโฉมภาคการผลิตของไทย เป็นโซลูชั่นที่มาตอบโจทย์ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society ของไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกด้วย

ความสำคัญของหุ่นยนต์ ในมุมของการพัฒนาประเทศไทย

หากย้อนเวลากลับไปเมื่อพูดถึง เทคโนโลยีหุ่นยนต์ หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและไกลตัว แต่ในวันนี้ หุ่นยนต์ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้น ทั้งการทำงานในสำนักงาน ร้านอาหาร โรงพยาบาล และโรงงานอุตสาหกรรม

โดยถ้าพูดถึงหุ่นยนต์ จะแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ นั่นคือ หุ่นยนต์ที่ใช้ในโรงงาน ที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของแขนกลที่ทำงานอยู่กับที่และระบบที่ใช้ขนส่งวัสดุต่างๆในโรงงาน และ หุ่นยนต์บริการ ที่แบ่งออกได้เป็นหลายประเภทเช่นกัน เช่น หุ่นยนต์เคลื่อนที่ที่ใช้ในการขนส่งพัสดุในสำนักงาน เสิร์ฟอาหาร ขนส่ง ขนสินค้าระหว่างอาคาร ทั้งนี้รวมถึงยังมี

  • หุ่นยนต์ทางการแพทย์ ที่จะเป็นหุ่นยนต์ที่ช่วยในการผ่าตัดที่มีความละเอียดอ่อน โดยจะควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์โดยแพทย์
  • หุ่นยนต์ที่ใช้ในงานวิจัย ซึ่งจะทำงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่นในท้องทะเลลึก หรือปากปล่องภูเขาไฟ เป็นต้น
  • หุ่นยนต์ด้านความมั่นคง ใช้ในสนามรบหรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ใช้สอดแนม ลาดตระเวน และโจมตี
  • หุ่นยนต์ด้านความบันเทิง ตอบโต้กับคนได้เหมือนเป็นเพื่อนเล่นหรือสัตว์เลี้ยง
  • หุ่นยนต์ที่ใช้ในครัวเรือน เช่น หุ่นยนต์ทำความสะอาดบ้าน

โดยจุดเด่นของการใช้หุ่นยนต์ในหลากหลายวัตถุประสงค์ อยู่ที่ความคล่องตัวในการใช้งาน สามารถปรับแต่งให้ทำงานได้หลากหลาย และเมื่อรวมเข้ากับการทำงานของ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ยิ่งทำให้หุ่นยนต์พัฒนาการทำงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จึงทำให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เติบโตขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และก้าวขึ้นมาเป็นอีกฟันเฟืองหนึ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคที่ประเทศไทยต้องพึ่งพาหุ่นยนต์มากขึ้นเรื่อยๆ

เนื่องจากการที่ไทยก้าวเข้าสู่การเป็น สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ภาคการผลิตของไทยต้องประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานมากในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ อัตราค่าแรงขั้นต่ำที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ผู้ผลิตจึงต้องเร่งนำหุ่นยนต์และเครื่องจัก ตลอดจนระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยลดต้นทุนการผลิต แก้ปัญหาแรงงานในระยะยาว

เปิดหน้าต่างส่องวิวัฒนาการการผลิตหุ่นยนต์ และประเทศที่พึ่งพาหุ่นยนต์ในการผลิตมากที่สุดในโลก

โดยถ้าพูดถึงต้นทุนการผลิตหุ่นยนต์ ก็พบว่ามีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ผลิตขนาดใหญ่รวมไปถึงผู้ประกอบการ SME มีโอกาสที่จะนำหุ่นยนต์มาใช้ในสายการผลิตเพื่อทดแทนแรงงานมนุษย์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งหมดนี้จึงเป็นแรงกดดันสำคัญที่ทำให้มีการใช้หุ่นยนต์ในภาคการผลิตและบริการทั่วโลก โดยในช่วงปี 2560 ทั่วโลกมียอดจำหน่ายหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรมแล้ว 381,000 ตัว มาในปี 2564 มีการใช้หุ่นยนต์พุ่งสูงขึ้นถึง 517,385 ตัว ซึ่งถ้าไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะมียอดหุ่ยนต์เพิ่มมากขึ้นทั่วโลกกว่า 630,000 ตัว

โดยภูมิภาคเอเชียเป็นพื้นที่ที่มีการใช้หุ่นยนต์สูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก ถ้าไปดูข้อมูลล่าสุดของ International Federation of Robotic หรือ IFR ในปี 2564 จะพบว่ามีการใช้หุ่นยนต์ในภาคการผลิต และประเทศไทยก็ขึ้นแท่นเป็นผู้ใช้หุ่นยนต์ใหม่มากที่สุดเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และมีหุ่นยนต์ใหม่ 1,914 ตัว

ทั้งนี้ ประเทศชั้นนำที่ใช้หุ่นยนต์ในภาคการผลิตมากที่สุด คือ

  1. จีน 268,295 ตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 51
  2. ญี่ปุ่น 182 ตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 22
  3. สหรัฐอเมริกา 34,987 ตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 14
  4. เกาหลีใต้ 31,083 ตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 2
  5. เยอรมนี 23,777 ตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 6
  6. อิตาลี 14,083 ตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 6
  7. ไต้หวัน 9644 เพิ่มขึ้นร้อยละ 31
  8. ฝรั่งเศส 5945 เพิ่มขึ้นร้อยละ 11
  9. เม็กซิโก 5401 เพิ่มขึ้นร้อยละ 61
  10. อินเดีย 4945 เพิ่มขึ้นร้อยละ 54

และหุ่นยนต์ที่นำไปใช้ในภาคการผลิตส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ26 รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ร้อยละ 23 อุตสาหกรรมโลหะและเครื่องจักร ร้อยละ 12 อุตสาหกรรมพลาสติกและเคมีภัณฑ์ ร้อยละ 5 อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 3

เมื่อมีการประเมินต่อเนื่องว่าความต้องการใช้หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอัตราที่สูง เพราะการปรับตัวลดลงของต้นทุนการผลิตหุ่นยนต์อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2538 ต้นทุนการผลิตหุ่นยนต์ยังอยู่ที่ 131,433 ดอลลาร์ จนมาในปี 2557 ราคาต้นทุนปรับลงมาอยู่ที่ 31,312 ดอลลาร์ และในปี 2568 คาดการณ์ว่าราคาต้นทุนการผลิตหุ่นยนต์จะปรับลงมาเหลือ 10,800 ดอลลาร์ เท่านั้น

อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทย อุตสาหกรรมแห่งความหวัง ที่ภาครัฐเดินหน้าส่งเสริมทุกทาง

ด้วยราคาต้นทุนที่ลดลงต่อเนื่อง จากปัจจัยสนับสนุนในเรื่องของความก้าวหน้าที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ต้นทุนชิ้นส่วนการผลิตที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก และนี่ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้มากขึ้นทั้งในแง่ของการผลิตและบริการ

และการที่ภาคการผลิตและบริการในไทยหันมาใช้หุ่นยนต์มากขึ้นนี่เอง ที่ช่วยยกระดับการผลิตและบริการของไทยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ด้วยต้นทุนการผลิตที่ลดต่ำลง จุดนี้เองที่ส่งผลให้ความสามารถด้านการแข่งขันในตลาดโลกของไทยปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

ดังนั้น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ จึงถือเป็นอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยุคใหม่ในไทย ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงร่วมมือกับหลากหลายหน่วยงานในการผลักดันให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ของตนเองได้ และสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาร่วมกันกับทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจไทย

จากความสำคัญของ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ที่ได้กล่าวมา ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ออกมาตรการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2560-2569 ซึ่งประกอบไปด้วยมาตรการกระตุ้นการใช้หุ่นยนต์ภายในประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายให้ผู้ประกอบการในประเทศหันมาใช้หุ่นยนต์ในภาคการผลิตเพิ่มขึ้น และยังมีหน่วยงานต่างๆที่พร้อมมอบสิทธิพิเศษ เพื่อกระตุ้นให้มีการใช้หุ่นยนต์เพิ่มขึ้นด้วย ดังนี้

  1. สำนักงานส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI จะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ร้อยละ 50 ของเงินลงทุน ให้กับผู้ประกอบการที่นำหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติเข้ามาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการบริการ
  2. กระทรวงการคลังจะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 300 ของรายจ่ายเพื่อการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รวมทั้งสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติที่ผลิตภายในประเทศ
  3. กระทรวงอุตสาหกรรมจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SME ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผ่านกองทุนพัฒนาเอาเอ็มอีและกองทุนอื่นๆ

โดยเป้าหมายในการสนับสนุนการผลิตหุ่นยนต์ในประเทศ ก็เพื่อเพิ่มจำนวนและยกระดับการแข่งขันของผู้ผลิตหุ่นยนต์ในประเทศ ซึ่งจะมุ่งเน้นเพิ่มจำนวน System Integrator หรือ SI ที่เป็นผู้ผลิต ผู้พัฒนา วางระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดย BOI จะเป็นผู้ให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนในระดับสูงสุด และกระทรวงการคลังจะยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนที่นำมาผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รวมทั้งจะมีการเร่งพัฒนาบุคลากรและยกระดับเทคโนโลยีด้วย

ทั้งนี้ จะมีหน่วยงานนำร่อง 8 แห่ง ทำหน้าที่รับรองคุณสมบัติของ SI ที่จะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากรในด้านที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์ โดยมีเป้าหมายในระยะสั้นคือปี 2560 มีการลงทุนโดยใช้หุ่นยนต์เพิ่มขึ้น 12,000 ล้านบาท เริ่มเกิดการขยายตัวของหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยโรงงานที่ใช้หุ่นยนต์จะมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 50 รวมถึงการส่งเสริมให้มีการสร้างคลังสินค้าอัตโนมัติเพิ่มมากขึ้นด้วย

มาถึงเป้าหมายระยะกลางของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ปี 2560-2565 กำหนดไว้ว่า

  • ขยายการลงทุนด้วยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท
  • ใช้หุ่นยนต์ในโรงงานไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50
  • ผลิตหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติทดแทนการนำเข้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 30
  • ส่งเสริมการวิจัยหุ่นยนต์ทางการแพทย์ หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ อากาศยานไร้คนขับ หุ่นยนต์ที่ทำงานร่วมกับมนุษย์
  • สร้าง System Integrator หรือ SI จากจำนวน 200 ราย เพิ่มเป็น 1,400 ราย

ส่วนเป้าหมายระยะยาว ในระยะเวลา 10 ปี จนถึงปี 2569

  • ไทยจะเป็นผู้นำในการใช้และผลิตหุ่นยนต์ของอาเซียน
  • มีเทคโนโลยีของตัวเองและส่งออกหุ่นยนต์
  • มีการวิจัย พัฒนา โรงงานอัจฉริยะการเกษตรอัจฉริยะ บ้านอัจฉริยะ ยานยนต์ไร้คนขับ

โดยถ้าประมวลผลที่ผ่านมา ก็จะพบว่ามีโรงงานอุตสาหกรรมที่ลงทุนใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติประมาณ 186,000 ล้านบาท มียอดส่งเสริการลงทุนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต จำนวน 245 กิจการ มูลค่ากว่า 26,851 ล้านบาท

เจาะผลการวิจัย “มาตรการส่งเสริม อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทย” ตรงเป้าและตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมได้จริงหรือไม่ ?

นอกจากนั้นในการพิชิตภารกิจส่งเสริม ภาคอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศไทย ยังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จากภาคเอกชนและภาคการศึกษา ที่ได้ให้มุมมองซึ่งช่วยเสริมการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมอุ่นยนต์ในไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยในภาควิชาการ ดร.ธันยวัต สมใจทวีพร ผู้อำนวยการศูนย์หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และ รศ.ดร.ณัฐสิทธิ์ เกิดศรี หัวหน้าทีมปฏิบัติการด้านการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกันศึกษาผลการดำเนินงานของรัฐบาลที่ผ่านมา

พบว่ามาตรการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐบาลที่ผ่านมามีส่วนส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อยกระดับกระบวนการผลิตให้ถึงอุตสาหกรรม 4.0 ได้มากขึ้น โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา มีการลงทุนเพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานโดยใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์จำนวน 15 โครงการ มีมูลค่า 1,200 ล้านบาท

ส่วนในปี 2565 มีจำนวนโครงการที่ยื่นเข้ามาถึง 85 โครงการ มูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท และในปัจจุบัน มีภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้หุ่นยนต์และเติบโตอย่างก้าวกระโดด ขณะที่ผู้ประกอบการที่ให้บริการหุ่นยนต์ในประเทศ ยังมีอยู่จำนวนไม่มากพอ ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเร่งส่งเสริมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วยการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการหุ่นยนต์ผ่านมาตรการพิเศษต่างๆ เช่น แหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ส่งเสริมสตาร์ทอัพ สร้างผู้ประกอบการใหม่

นอกจากนี้การผลิตหุ่นยนต์ในไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าวัสดุและชิ้นส่วนจากต่างชาติจำนวนมาก ซึ่งถ้าต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดึงดูดการลงทุนให้ตั้งฐานการผลิตชิ้นส่วนและอุปกร์ภายในประเทศ รวมทั้งต้องมีการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์หรือบอร์ดหุ่นยนต์ ที่เหมือนกับบอร์ดยานยนต์สมัยใหม่ที่มีส่วนทำให้การพัฒนา EV หรือยานยนต์ไฟฟ้าในไทย เติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เนื่องจากการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมด้านอื่นๆไม่น้อย ต้องใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อน จึงควรมีหน่วยงานที่เข้ามาดูแลอย่างใกกล้ชิดเพื่อให้เกิดการเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง

ด้าน ดร.ประพิณ อภินรเศรษฐ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) ได้ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า “แม้ที่ผ่านมา รัฐบาลจะให้การส่งเสริมและสนับสนุน อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อย่างเต็มที่ แต่ก็ยังมีอีกหลายปัญหาที่รัฐบาลจะต้องเร่งแก้ไข เพื่อให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เข้มแข็ง” โดย ดรประพิณ ชี้ให้เห็นในแต่ละประเด็น ดังนี้

  • แก้ไขมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของ BOI ให้ SME เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพราะในปัจจุบันมีข้อกำหนดที่เข้มงวดเกินไป ส่งผลให้ผู้ประกอบการ SME เข้าร่วมโครงการกับภาครัฐได้น้อย
  • แก้ไขมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ที่เป็นมาตรการที่ต้องต่ออายุแบบปีต่อปี ทำให้ผู้ประกอบการต้องเข้ามาลุ้นทุกปีว่าจะต่ออายุมาตรการนี้ได้หรือไม่ ด้วยเหตุนี้ จึงควรทำมาตรการนี้ให้เป็นมาตรการระยะยาว เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถวางแผนธุรกิจได้ง่ายขึ้น
  • ปรับปรุงข้อกำหนดมาตรการภาษีนำเข้าอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบหุ่นยนต์ โดยเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการที่มีบทบาทเป็น System Integrator หรือ SI ซึ่งในปัจจุบันได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้น้อยมาก เพราะโรงงานประกอบหุ่นยนต์ของ SI ล้วนแล้วแต่มีขนาดเล็ก นำเข้าอุปกรณ์ต่างๆได้ในจำนวนไม่มาก ทำงานบริษัทจากต่างประเทศไม่อยากขายอุปกรณ์ให้ จึงต้องไปซื้อจากตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย ที่ไม่ใช่ธุรกิจ SI จึงไม่สามารถได้รับยกเว้นภาษีในอุปกรณ์เหล่านี้ได้ ทำให้บริษัท SI ที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เหล่านี้ ไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการยกเว้นภาษีเลย

“ดังนั้น ทางออก คือ ต้องมีข้อกำหนดให้บริษัท SI สามารถไปซื้ออุปกรณ์เหล่านี้แบบปลอดภาษี หรือบริษัท SI สามารถไปขอคืนภาษีในส่วนนี้ได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการ SI ของไทย เป็น SME ที่ได้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ที่ภาครัฐมอบให้ และมีต้นทุนที่ลดต่ำลงได้ จนสามารถสู้กับบริษัท SI และผู้ผลิตหุ่นยนต์ต่างชาติได้”

แชร์มุมมองภาคเอกชน TKK Corporation กับความโดดเด่นของไทยในฐานะ บริษัท SI ฝีมือดีแห่งภูมิภาค

ดังที่กล่าวมาว่า ยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทย จำเป็นต้องยกระดับการแข่งขันของผู้ผลิตหุ่นยนต์ในประเทศ ด้วยการเพิ่มจำนวน System Integrator หรือ SI ที่เป็นผู้ผลิต ผู้พัฒนา วางระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ แนวคิดนี้สอดคล้องตรงกันกับ บริษัท SI สัญชาติไทย ที่มีประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษาให้กับภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการจะปรับเปลี่ยนไปใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในประเทศไทย รวมทั้งมีผลงานการออกแบบและผลิตหุ่นยนต์ซึ่งเป็นที่ยอมรับของภาคอุตสาหกรรมไทย นั่นคือ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (TKK Corporation)

กัลยาณี คงสมจิตร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (TKK Corporation Co.,Ltd.)

โดย กัลยาณี คงสมจิตร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (TKK Corporation Co.,Ltd.) ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจในประเด็นนี้ว่า

“จากการทำงานกับบริษัทใน ญี่ปุ่น จีน หรือเกาหลี ก็บอกตรงกันว่า บริษัท SI ของเมืองไทยเก่งกว่าหลายๆ ประเทศในอาเซียน ซึ่งการทำงานจากนี้ไป ผู้ทำหน้าที่ System Integrator จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งในช่วงเวลาที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิดครั้งนี้เอง ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนให้กับทุก ๆ ภาคส่วนของอุตสาหกรรม ทั้ง อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องจักร อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมปิโตรเคมิคอล อุตสาหกรรมยานยนต์ Supply Chain จะสั้นขึ้น การติดต่อสื่อสารจะเร็วขึ้น ง่ายขึ้น การตัดสินใจในการลงทุนจะไม่มีการรีรอ”

“ทั้งนี้ ที่ผ่านมา เราได้ฉวยเอาช่วงเวลาแห่งวิกฤตนี้เอง พลิกให้เป็นโอกาสในการพัฒนา อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ในไทย เมื่อวิกฤตโควิดคลี่คลาย อุตสาหกรรมด้านนี้เองที่จะมีบทบาทในการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของประเทศไทยไปได้อย่างมาก โดยส่วนตัวมองว่าประเทศไทยจะเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้เลย”

“เพราะเรามีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ทักษะ ดิจิทัล โดยเฉพาะด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งจากการได้เคยทำงานร่วมกัน พบว่าแต่ละท่านมีความรู้ ความสามารถมาก มีทั้งที่เป็นอาจารย์ เป็น Startup รวมถึงเป็นบุคลากรที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ดังนั้น ถ้าภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมมือกันเข้ามาส่งเสริมคนเก่งเหล่านี้ ย่อมเป็นอีกทางหนึ่งที่จะพัฒนาภาคอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของไทยให้เป็นตัวแปรในการยกระดับการพัฒนาประเทศไทยได้อย่างแน่นอน” คุณกัลยาณีกล่าวในที่สุด


ข่าวจาก salika.co