ถ้ากล่าวถึง ซีอีโอ ที่ดูแลธุรกิจหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ หลายคนอาจนึกถึงแต่ภาพผู้บริหารผู้ชาย ทว่า ถ้าใครได้รู้จักบริษัทเทคโนโลยีและนวัตกรรมสัญชาติไทย นามว่า TKK Corporation แล้ว จะรู้ว่า ซีอีโอที่ดูแลองค์กรเทคโนโลยีแห่งนี้ เป็น หญิงแกร่ง ‘กัลยาณี คงสมจิตร’ ประธานกรรมการ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งนอกจากจะมาลบภาพจำเดิมๆดังที่กล่าวมาแล้ว ยังได้มาให้คำนิยามใหม่ของ บริษัทผู้ผลิต “หุ่นยนต์สัญชาติไทย” ที่ได้รับการยอมรับจากภาคอุตสาหกรรมไทยอีกด้วย

จากก้าวแรก ในฐานะธุรกิจ SME ผู้จัดจำหน่ายสินค้าในระบบควบคุมการผลิตอัตโนมัติในโรงงาน ที่นำเข้าเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยจากชาติเจ้าแห่งเทคโนโลยี เช่น ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และฝรั่งเศส มาในวันนี้พัฒนาสู่บริษัทที่มีความมั่นคง ด้วยหลักการทำงาน ที่ กัลยาณี คงสมจิตร ยึดมั่น และพาธุรกิจชนะใจลูกค้า คือ การให้ความสำคัญ ใส่ใจในคุณภาพสินค้าและการบริการ ตั้งแต่การสั่งซื้อจนส่งมอบสินค้าถึงมือลูกค้า

อีกทั้งที่ TKK ยังมีทีมงานวิศวกรที่เชี่ยวชาญมากด้วยประสบการณ์คอยให้คำปรึกษา แนะนำเกี่ยวกับงานวิศวกรรมครอบคลุมทุกด้าน นอกจากนั้น ยังมีการขยายการให้บริการสู่งานเป็นที่ปรึกษา ออกแบบ และผลิต ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ ที่ใช้ในกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ รวมถึงธุรกิจบริการ อย่าง ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล ด้วย

จากการก่อร่างสร้างธุรกิจ จนได้รับการยอมรับของ TKK Corporation ดังที่กล่าวมา วันนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ ผู้บริหารหญิงแกร่งท่านนี้ ในหลากหลายประเด็น ไม่ใช่แค่วิสัยทัศน์ในการนำพาธุรกิจให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับสากลเท่านั้น หากแต่ กัลยาณี คงสมจิตร ยังจะมาให้มุมมองในฐานะผู้บริหารที่จะพา หุ่นยนต์สัญชาติไทย ไปบุกเบิกและสร้างชื่อเสียงในภาคอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและอุตสาหกรรมจากต่างประเทศที่มาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย

รวมถึงแนวคิดการฉวยเอาช่วงเวลาแห่งวิกฤตโรคระบาด ในการปรับองค์กรเพื่อรับโอกาสที่ตลาดหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติขยายตัว เพราะหลากหลายอุตสาหกรรมที่ต้องปรับเปลี่ยนมาพึ่งพาเทคโนโลยีแห่งยุคนี้มากขึ้นนั่นเอง

จุดเริ่มต้น TKK Corporation บริษัทเทคโนโลยีคนไทย ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก

ดังที่เกริ่นว่า TKK Corporation เริ่มต้นจากการเป็นธุรกิจตัวแทนจัดจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรม อุปกรณ์เครื่องจักรขนาดใหญ่ โดยทำธุรกิจในระดับ เอสเอ็มอีขนาดกลาง เมื่อปี 2547 จนมาในวันนี้ คุณกัลยาณีย้อนเวลากลับไปบอกเล่าถึงความสำเร็จในไลน์ธุรกิจตั้งต้น ว่า

“ปัจจุบัน TKK มีสินค้าที่จำหน่ายกว่า 2,000 แบรนด์ และได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการให้กับ 40 แบรนด์ระดับโลก มีสินค้ามากกว่า 1 แสนรายการ โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักได้แก่ โรงงานขนาดใหญ่ทั้งของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทย ตั้งแต่โรงงานผลิตรถยนต์ ผลิตยางรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงสินค้าอุปโภคบริโภค ที่มาตั้งฐานการผลิตในไทย”

“โดย ส่วนตัว เรียนจบจาก คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในสาขาวิชาเอกบัญชี ส่วนสาขาที่เลือกรองลงมาก็คือการจัดการและคอมพิวเตอร์ ซึ่งเมื่อเรียนไป ก็มีความชอบและสนใจในด้านไอที เมื่อเรียนจบก็มาทำงานในตำแหน่งทางบัญชีแต่เป็นงานสายโปรแกรมเมอร์อยู่ช่วงหนึ่งไม่นาน และก็ได้ไปศึกษาต่อ ในหลักสูตร MBA ที่ Melbourne Business School เมื่อเรียนจบกลับมาทำงานได้ 2 ปี ก็ได้ทุนไปเรียนต่ออีกครั้งที่ มหาวิทยาลัย Wharton สหรัฐอเมริกา ในด้าน Executive ครั้งนี้ เมื่อเรียนจบกับมาได้โอกาสในการทำงานในบริษัทญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเซนเซอร์ และในตอนนี้เองที่ได้โอกาสทำงานกับคนในแวดวงวิศวกร”

“หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานในบริษัทญี่ปุ่น ก็ได้ตัดสินใจออกมาเปิดบริษัท ซึ่งถือว่าเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ของชีวิต ที่เรามองแง่บวกว่า ความรู้ด้านการบริหารธุรกิจก็มี เงินทุนในการเปิดบริษัทก็พอหามาได้ และเราก็มีความชอบในด้านไอที เทคโนโลยี และยังมีประสบการณ์ มีคอนเนคชั่นจากการทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นอยู่แล้ว การทำธุรกิจตัวแทนจัดจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรม อุปกรณ์เครื่องจักรขนาดใหญ่ ไม่น่าเป็นเรื่องที่ยากเกินตัว พอคิดได้แบบนี้ เราก็เดินหน้าลุยเลย”

“โดยตอนนั้น ใช้ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ในช่วงแรก ไปหาลูกค้าเอง พรีเซนต์งาน แนะนำลูกค้า ปิดการขายเอง ซึ่งตอนนั้นก็รู้สึกสนุกกับงาน เพราะเรามาจากสายเซลส์ตั้งแต่แรกก็เลยไม่ได้รู้สึกว่ามันน่ากลัวอะไร”

คุณกัลยาณี กล่าวต่อว่า หลังจากเปิดบริษัทมาได้ 3-4 ปี กราฟการเติบโตของบริษัทก็พุ่งขึ้นอย่างน่าพอใจ แต่สิ่งที่ผู้บริหารหญิงแกร่งคนนี้คิด คือ การไม่หยุดนิ่งและพึงพอใจอยู่แค่ความสำเร็จตรงหน้า แต่คิดที่จะต่อยอดธุรกิจนี้ให้ยั่งยืนด้วยการเพิ่มมูลค่า จากบริษัทที่ ซื้อมา ขายไป ให้เป็นบริษัทที่ให้บริการด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม สำหรับภาคอุตสาหกรรมแบบครวงจรด้วยการตั้งแผนกวิศวกรขึ้น

“ในช่วงเวลาประมาณปี 25550-2551 เงินเดือนที่ใช้ในการจ้างวิศวกรหนึ่งคน สามารถจ้างเซลล์ได้ถึง 4 คน คนทั่วไปอาจคิดว่าถ้าจะเอายอดขายให้เพิ่มขึ้น เอาเงินตรงนี้ไปจ้างเซลล์น่าจะดีกว่า แต่โดยส่วนตัวกลับคิดว่า นี่คือการลงทุนในเรื่องคน เป็นการสร้างคุณค่าให้กับองค์กร เพิ่มขีดความสามารถขององค์กรให้เป็นได้มากกว่าบริษัทซื้อขายเครื่องจักรทั่วไป เพราะการมีฝ่ายวิศวกร ก็เท่ากับว่าเราได้ดูแลให้คำปรึกษาลูกค้าเวลามีปัญหา เป็นการทำให้ลูกค้ามีความประทับใจ ทั้งกลับมาซื้อต่อและบอกต่อได้อีก”

แชร์เคล็ดลับมัดใจลูกค้าทั้งในประเทศ และลูกค้าต่างประเทศ ด้วยบริการครบวงจร

แล้วการตัดสินใจตั้ง แผนกวิศวกร ก็ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่น่าพอใจอย่างที่คุณกัลยาณีได้คาดการณ์ไว้ เพราะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้บริการลูกค้าได้แบบครบวงจรและต่อยอดธุรกิจไปมากกว่าแค่บริษัทซื้อขายเครื่องจักรธรรมดา ทำให้ TKK ปลดล็อคสู่การนำเสนอบริการที่เป็นโซลูชันตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่อยากปรับรูปแบบการผลิตไปสู่ อุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างตรงจุด

“หลังจากที่เราวางระบบ โครงสร้างในองค์กรของเรา TKK ก็สามารถรับงานดีขึ้น มีส่วนแบ่งการตลาด หรือ Margin ที่น่าพอใจ สามารถเลือกงาน เลือกลูกค้า ตลอดจนวางแผนโปรเจกต์ในแบบของการนำเสนอโซลูชันที่เหมาะสมและดีที่สุดให้ลูกค้าสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า ทำให้ลูกค้ารู้สึกได้ว่าเงินที่จ่ายไป มีความคุ้มค่า”

นอกจากนั้น TKK ยังประสบความสำเร็จในการเป็นตัวแทนจำหน่ายแบรนด์เครื่องจักร เทคโนโลยี นวัตกรรม ทั่วโลกกว่า 2,000 แบรนด์ ซึ่งเมื่อถามถึงความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจนี้ ซีอีโอหญิงแห่ง TKK ได้กล่าวถึงเคล็ดลับความสำเร็จนี้ว่า

“แบรนด์ที่เข้ามาขยายธุรกิจในบ้านเรา มักประสบปัญหาในเรื่องของการสื่อสาร การบริหารจัดการภายในองค์กรที่ไทย ดังนั้น การแต่งตั้งบริษัทที่เป็น Local Company หรือบริษัทท้องถิ่นแบบ TKK เป็นตัวแทนจำหน่าย ย่อมดีกว่าการมาตั้งสำนักงานในไทยเอง จากแบรนด์แรกจนถึงวันนี้ เราได้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรมแบรนด์ชั้นนำทั่วโลกกว่า 2,000 แบรนด์”

“ส่วนฐานลูกค้า ก็เป็นฐานลูกค้าที่ดี ตั้งแต่เราทำธุรกิจมา มีหนี้เสียน้อยมาก ที่เป็นเช่นนี้ เป็นเพราะแบรนด์ที่เราขายคือแบรนด์ชั้นนำที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ซึ่งเราเป็น Exclusive Brand หรือ Dealer หลักในเมืองไทย ทำให้ลูกค้าที่ติดต่อมาต้องมีความสนใจจริงๆ และเมื่อเราเอามาผูกกับโซลูชันของทางบริษัท แล้วนำมาเสนอให้ลูกค้า ส่วนใหญ่ก็มีความพึงพอใจ ทำให้เป็นลูกค้ากันในระยะยาว”

ต่อยอดธุรกิจจากวิกฤตโรคระบาด ตัวเร่งให้ ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ ยิ่งเป็นที่ต้องการ

มาถึงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่เกิดวิกฤตโรคระบาดขึ้น คุณกัลยาณี ย้ำชัดว่า วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ได้มามอบบทเรียนครั้งสำคัญให้กับทุกธุรกิจ นั่นคือ บทเรียนในการปรับตัวให้เร็ว สำหรับ TKK สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการต่อยอดธุรกิจ โดยเฉพาะในด้านการนำเสนอ หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ ที่มาตอบสนองความต้องการในการใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางโรคระบาดของคนยุคนี้ อย่าง “หุ่นยนต์บริการ”

“ย้อนเวลากลับไปในการระบาดระลอกแรก สิ่งแรกๆ ที่ทาง TKK ทำเพื่อเป็นการช่วยเหลือสังคม คือ การบริจาคสิ่งของที่ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนและต้องการทั่วไป ซึ่งก็ถือว่าช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้ระดับหนึ่ง แต่เมื่อวิกฤตโรคระบาดมีทีท่าว่าจะยืดเยื้อ หน่วยงานของเราก็มาคิดกันว่า ในฐานะที่เราเป็นองค์กรที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ เราน่าจะทำอะไรให้สังคมและประเทศชาติได้มากกว่านี้ ความคิดในการออกกแบบนวัตกรรมที่สามารถแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์จึงเกิดขึ้น และเราก็เดินหน้าทำให้เป็นรูปเป็นร่างเลย”

“ในเบื้องต้น เราใช้เวลาประชุมกันกับทุกทีมงานในองค์กร ทั้งทีม วิศวกร ทีมโปรแกรมเมอร์ ทีมการตลาด ฯลฯ รวมถึงพันธมิตรที่เป็นเครือข่ายของเรา ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาต่างๆ เช่น สถาบันปัญญาภิวัฒน์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จนกระทั่งได้ร่วมกันออกแบบ หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ เพื่อใช้ขนส่ง ยา อาหาร เวชภัณฑ์ ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระ ลดความเสี่ยง ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างได้ผล”

“ทั้งนี้ หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ที่เราได้ออกแบบร่วมกับ สถาบันปัญญาภิวัฒน์ และ วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังได้ไปคว้ารางวัลระดับโลกมาด้วย นั่นคือ รางวัลความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม Innovation Best Award ประจำปี 2020 จากงานมหกรรมนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์แห่งสหราชอาณาจักร (IBIX) นอกจากนั้น ในปีนี้ยังคว้ามาได้อีก 1 รางวัล คือ รางวัลจากนายกรัฐมนตรี Prime Minister Awards ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติด้วย”

“นวัตกรรม หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ นี้ นอกจากจะเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่าท่ามกลางวิกฤต ถ้าคนไทยร่วมมือ สามัคคี กลมเกลียวกัน เราก็สามารถสร้างนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ ที่มีส่วนช่วยประเทศชาติในการบรรเทาวิกฤตที่เกิดขึ้นได้จริงแล้ว ในด้านธุรกิจ TKK และ บริษัท KSI Solution จำกัด บริษัทในเครือฯ ยังได้ Business Model ใหม่ เป็น Business Unit ที่เป็นแผนกขายใหม่นั่นคือแผนกขายหุ่นยนต์บริการด้วย”

ขยายธุรกิจสู่ การนำเสนอ หุ่นยนต์บริการ คุณภาพ ให้กับภาคบริการของไทย

โดยความคืบหน้าล่าสุด ของ แผนกหุ่นยนต์บริการ คือ เราได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของ ‘หุ่นยนต์บริการ’ แบรนด์ ORIONSTAR ซึ่งเป็นผู้ผลิต หุ่นยนต์บริการ คุณภาพสูงจากประเทศจีนที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกด้วย คุณกัลยาณี ได้กล่าวถึงความภาคภูมิใจนี้ว่า

“เหตุผลหลักที่ทาง ORIONSTAR เลือก TKK และ บริษัท KSI Solution จำกัด บริษัทในเครือฯ เป็นตัวแทนจำหน่ายหุ่นยนต์ฯ นั้น ก็เพราะ ทีมวิศวกร ทีมโปรแกรมเมอร์ ทีมพัฒนาซอฟต์แวร์และโปรแกรม ที่มีความเชี่ยวชาญคอยให้บริการดูแลลูกค้า ทั้งก่อนและหลังการขาย”

“นอกจากนี้ ทาง ORIONSTAR ยังสะท้อนถึงความประทับใจและเหตุผลที่เลือก TKK เป็นตัวแทนจำหน่ายและพันธมิตรธุรกิจในครั้งนี้ด้วยว่า TKK เป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้าหลังการขาย ถ้าหุ่นยนต์มีปัญหา จะเสนอให้ซ่อมมากกว่าเปลี่ยนทั้งตัว หลายบริษัทที่เขาได้ไปเจรจามา อยากขายหุ่นยนต์บริการของ ORIONSTAR แต่ไม่มีบริษัทไหน ที่นำเสนอว่ามีทีมงานวิศวกรที่พร้อมเรียนรู้การซ่อมแซมหุ่นยนต์นั้น ถ้ามีปัญหาเลย มีแต่ที่ TKK เท่านั้น”

“นี่เป็นเพราะ TKK มองว่า แม้หุ่นยนต์นั้นจะหมดระยะเวลาการรับประกัน 1 ปี หรือ 2 ปีแล้ว ก็ควรเสนอลูกค้าให้ซ่อม เปลี่ยนอะไหล่ เพื่อให้กลับมาใช้ได้ ไม่ใช่ว่าจะทิ้งของอย่างเดียว หรือว่าซื้อใหม่ ซึ่งทาง TKK ทำได้ เพราะมีทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ และถ้าทำได้เช่นนี้ย่อมเป็นการประหยัดทั้งต้นทุนให้กับลูกค้าและช่วยลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้สิ่งแวดล้อมด้วย”

“และการที่ทางบริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์บริการชั้นนำจากจีน ไว้วางใจให้ทาง TKK เป็นพันธมิตรทางธุรกิจนี้ ยังเอื้อประโยชน์ให้เกิดการเรียนรู้จากการถ่ายทอด Knowhow ของทางทีมวิศวกร โปรแกรมเมอร์ ชาวจีน มาที่ ทีมงานชาวไทยด้วย ซึ่งปูทางสู่ความเป็นไปได้ในการที่ประเทศไทยจะเป็น Hub ของภูมิภาคในการสร้างหุ่นยนต์บริการได้ต่อไปด้วย”

“นอกจากนี้ เรายังได้ฉวยโอกาสที่ในตอนนี้ ได้เกิดการพัฒนาเครือข่าย 5G ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยการเสนอบริการเป็น ผู้นำของฝั่ง SI (System Integrator) ที่เชื่อมระหว่าง OT (Operational Technology) กับ IT (Information Technology) ซึ่งทางฝั่งหนึ่งทำงานอยู่หน้างานจริง อีกฝั่งหนึ่งทำงานอยู่ในห้องเซิร์ฟเวอร์ จึงสื่อสารกันลำบาก จำเป็นต้องมี SI ตรงกลาง ที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อ 2 ฟากเข้าด้วยกัน แล้วก็ต้องมี Telecommunication Company เช่น AIS, TRUE, DTAC ทำ 5G ขึ้นมาเสริม Eco System ให้สมบูรณ์”

“โดยเทรนด์ 5G นี้ จะมาอำนวยความสะดวกให้การทำงานในแบบ Remote working ซึ่งเป็นเทรนด์การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมในอนาคตเกิดขึ้นได้ และถ้าทำได้ก็จะมาช่วยลดการเกิดปัญหาคลัสเตอร์การระบาดในโรงงานได้ด้วย”

แชร์มุมมอง ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ ของไทยให้เป็นหนึ่งในภูมิภาคได้อย่างไร?

“จากการทำงานกับบริษัทใน ญี่ปุ่น จีน หรือเกาหลี ก็บอกตรงกันว่า บริษัท SI ของเมืองไทยเก่งกว่าหลายๆ ประเทศในอาเซียน” คุณกัลยาณีเกริ่น พร้อมเน้นย้ำในมุมมองด้านการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของไทยที่เธอเชื่อมั่นว่า

“การทำงานจากนี้ไป ผู้ทำหน้าที่ System Integrator จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งในช่วงเวลาที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิดครั้งนี้เอง ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนให้กับทุก ๆ ภาคส่วนของอุตสาหกรรม ทั้ง อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องจักร อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมปิโตรเคมิคอล อุตสาหกรรมยานยนต์ Supply Chain จะสั้นขึ้น การติดต่อสื่อสารจะเร็วขึ้น ง่ายขึ้น การตัดสินใจในการลงทุนจะไม่มีการรีรอ”

“ดังนั้น ถ้าเราฉวยเอาช่วงเวลาแห่งวิกฤตนี้ในการพัฒนา อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ในไทย เมื่อโควิดซาลง อุตสาหกรรมด้านนี้จะมีบทบาทในการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของประเทศไทยไปได้อย่างมาก โดยส่วนตัวมองว่าประเทศไทยจะเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้เลย”

“เพราะบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ทักษะ ดิจิทัล โดยเฉพาะด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติชาวไทย จากที่ได้เคยทำงานร่วมกัน พบว่าแต่ละท่านมีความรู้ ความสามารถมาก มีทั้งที่เป็นอาจารย์ เป็น Startup รวมถึงเป็นบุคลากรที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ดังนั้น ถ้าภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมมือกันเข้ามาส่งเสริมคนเก่งเหล่านี้ ย่อมเป็นอีกทางหนึ่งที่จะพัฒนาภาคอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของไทยให้เป็นตัวแปรในการยกระดับการพัฒนาประเทศไทยได้อย่างแน่นอน”


ข่าวจาก salika.co