ภาคธุรกิจ กับ ภาคการศึกษา ถ้ากล่าวขึ้นลอยๆ เช่นนี้ หลายคนอาจไม่เห็นถึงความเกาะเกี่ยว เกี่ยวข้อง กันแต่อย่างใด ทว่า หากคิดต่างมุมว่า สิ่งต่างๆที่ภาคธุรกิจมี จะสามารถนำเอาข้อได้เปรียบตรงนั้นมาเสริมให้ภาคการศึกษาสามารถพัฒนาและผลิตบุคลากรคุณภาพต่อไปได้บ้าง คำตอบก็จะชัดเจนขึ้นว่ามีแน่นอน เพราะที่สุดแล้ว กำลังคนที่ภาคการศึกษาผลิตขึ้นมาก็ต้องไปทำงานในภาคธุรกิจหรือภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น นี่น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมภาคธุรกิจจึงควรยกระดับให้เป็น องค์กรแห่งการเรียนรู้ และเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนภาคการศึกษาให้มากขึ้น

นอกจากการรับนักศึกษาเข้าฝึกงานที่ทำกันแทบทุกองค์กรแล้ว ในยุคนี้ ภาคธุรกิจ ไม่น้อยที่ขยายบทบาทสนับสนุนภาคการศึกษา ด้วยการเปิดกว้างให้นักศึกษา หรือแม้กระทั่ง คณาจารย์ เข้ามาเรียนรู้ในกระบวนการทำงานขององค์กรมากกว่าแค่การมาเยี่ยมชมหรือฝึกงานทั่วไป ซึ่งจุดนี้เองที่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ภาคธุรกิจและภาคการศึกษาจับมือ ทำงานร่วมกัน สานต่อความร่วมมือในรูปแบบอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อภาคการศึกษามากขึ้น และเมื่อมาวิเคราะห์ดูแล้ว ผลลัพธ์จากความร่วมมือดีๆ นั้น ก็เป็นผลตอบกลับมายังองค์กรอยู่ดี ในด้านของการได้บุคลากรที่ตรงกับสายงาน ตอบโจทย์การทำงานมากขึ้น

นางสาวกัลยาณี คงสมจิตร ประธานกรรมการ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด

เพื่อให้เห็นภาพโมเดลที่กล่าวมาทั้งหมดว่าการที่ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับการสนับสนุนภาคการศึกษา หรือ การเรียนรู้ของคนในสังคม จะเกิดผลตอบแทนที่ดีกับสังคมไทยอย่างไรบ้าง เราขอยกตัวอย่าง องค์กรแห่งการเรียนรู้ ที่สร้างธุรกิจควบคู่ไปกับการมีบทบาทในการสนับสนุนภาคการศึกษาในหลากหลายรูปแบบ อย่าง บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (TKK CORPORATION COMPANY LIMITED)

ทั้งนี้ ปณิธานในการสร้าง องค์กรแห่งการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับ การสนับสนุนภาคการศึกษาทุกด้าน ได้รับการถ่ายทอดจนเป็น วัฒนธรรมองค์กร โดย นางสาวกัลยาณี คงสมจิตร ประธานกรรมการ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้บริหารหญิงแกร่งที่ให้ความสำคัญกับ การเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Life long learning ไม่น้อยไปกว่าการทำธุรกิจ ซึ่งในการถ่ายทอด DNA นี้ไปยังองค์กร เธอได้ใช้ตัวเองเป็นแบบอย่างในการลงมือทำจนเกิดผลสัมฤทธิ์แทบทุกเรื่อง

‘กัลยาณี คงสมจิตร’ ส่งต่อปณิธานสร้าง องค์กรแห่งการเรียนรู้ สู่การเป็นลมใต้ปีกสนับสนุนภาคการศึกษาไทย

คุณ กัลยาณี คงสมจิตร เริ่มเล่าให้ฟังถึง “ความโชคดี” ที่ครอบครัวเห็นความสำคัญของการศึกษา ทำให้เธอได้รับโอกาสในการเรียน ซึ่งเป็นจุดที่สร้างแรงบันดาลใจสำคัญ ทำให้ผู้บริหารหญิงท่านนี้อยากส่งต่อ “ความโชคดี” และโอกาสนี้เพื่อสร้างกำลังคนคุณภาพให้สังคมไทยเช่นกัน

“เราเติบโตมาในครอบครัวคนจีนที่มีอาชีพค้าขายของในตลาด ไม่ได้ร่ำรวย แต่คุณแม่เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา พอเรียนจบปริญญาตรี ท่านก็ตัดสินใจส่งเราไปเรียนต่อที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งยังจำได้ถึงคำของแม่ที่ย้ำอยู่บ่อยๆว่า การศึกษาจะเป็นตัวแปรยกระดับฐานะของครอบครัวเราได้”

“เพราะคุณพ่อ คุณแม่ ไม่ได้เรียนสูง และมีลูกเยอะ แต่ท่านก็ยังส่งเราเรียน ทั้งที่เป็นลูกสาวคนเดียว และในวันนี้ที่ได้ทำงานในบริษัทของตนเอง มีรายได้เลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัว ไม่ลำบาก นี่ก็เป็นบทพิสูจน์ว่าแนวคิดการให้ความสำคัญกับการศึกษาของครอบครัวเราได้มาถูกทาง ที่สามารถยกระดับฐานะของครอบครัวเราได้จริง”

“สำหรับตัวเอง พอเรียนจบมาก็มีโอกาสได้ทำงานในองค์กรชั้นนำ เป็นองค์กรญี่ปุ่น ทำให้ได้ฝึกฝนเรียนรู้ทักษะวิชาชีพ ทักษะการสื่อสาร ทักษะภาษา รวมถึงทักษะไอที เทคโนโลยี แล้วเราก็ชอบ บวกกับได้เห็นว่าเทรนด์ไอที เทคโนโลยี นวัตกรรมมาแน่ จึงตัดสินใจบุกเบิกธุรกิจด้านนี้ก่อน เมื่อคิดได้แบบนี้จึงตัดสินใจตั้ง บริษัท ทีเคเค คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด ธุรกิจตัวแทนจัดจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรม อุปกรณ์เครื่องจักรขนาดใหญ่ โดยทำธุรกิจในระดับ เอสเอ็มอีขนาดกลาง”

“ตอนนั้น ใช้ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท และเราก็ไปหาลูกค้าเอง พรีเซนต์งาน แนะนำลูกค้า ปิดการขายเอง ซึ่งตอนนั้นก็รู้สึกสนุกกับงาน เพราะเรามาจากสายเซลส์ตั้งแต่แรก และในช่วงเริ่มตั้งบริษัทนี้เอง ที่ตัวเราเป็นคนสอนทักษะภาษาอังกฤษ สอนคอมพิวเตอร์ ให้กับพนักงานในบริษัทด้วยตัวเอง”

“ตอนนั้น พนักงานใหม่ที่มาทำงานกับเราก็จะเป็นเด็กจบ ปวส. หรือ จบจากสถาบันในต่างจังหวัดที่มีใจทำงาน อาจไม่ได้เก่งมาก แต่มีจิตใจใฝ่รู้ อยากมาเรียนรู้ ปรับพื้นฐาน เพื่อทำงาน ซึ่งทำให้เรายินดีสอน ก็จะทำเช่นนั้นมาตลอดในช่วง 3 ปีแรกของการตั้งบริษัท จากนั้น ก็มีการไปหาครูมาสอนพนักงานในทักษะต่างๆ มีการส่งพนักงานไปศึกษาต่อ”

“จนกระทั่งมีอยู่ช่วงหนึ่งก็เปิดเป็นเหมือน Academy ของตนเอง ซึ่งก็จะวิเคราะห์ถึงศักยภาพของพนักงานแต่ละคน เพื่อสอนเพิ่มเติมในทักษะเฉพาะ ที่จะช่วยต่อยอดให้เขามีประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น”

“และผลลัพธ์จากการทำเช่นนั้น ทำให้ได้เห็นว่า การให้การศึกษา ส่งเสริมให้พนักงานเรียนรู้ มันส่งผลย้อนกลับมาที่การทำงาน ทำให้ได้ผลงานที่ดีขึ้นจริงๆ จากนั้นมาก็เป็นเหมือนดีเอ็นเอขององค์กรเลยว่า จะให้ความสำคัญกับการศึกษา เพิ่มเติมทักษะที่จำเป็นในการทำงานให้กับพนักงานของเราอย่างต่อเนื่อง”

จุดเริ่มต้น จับมือกับภาคการศึกษา ต่อยอดสนับสนุนการศึกษาไทยทุกมิติ

จากการสร้าง องค์กรแห่งการเรียนรู้ ของ ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น ได้ขยายสู่การสนับสนุนภาคการศึกษาไทย ด้วยความตั้งใจในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ของ คุณกัลยาณี ที่ได้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า

“ด้วยความเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ของ ทีเคเค ทำให้เมื่อต้องทดสอบสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ก่อนที่จะส่งมอบลูกค้า เราก็จะมีการเรียนรู้และสอนการใช้งานผลิตภัณฑ์นั้น รวมถึง เทคโนโลยี ใหม่ๆก็จะนำมาใช้ในองค์กรก่อน ทำให้พนักงานในทีเคเคคุ้นเคยกับเทคโนโลยีใหม่ๆและมีทักษะเชิงปฏิบัติในการทำงานด้วยเทคโนโลยีเหล่านั้นเป็นอย่างดี”

“ยกตัวอย่างการนำเสนอเทคโนโลยี RPA หรือ Robot Processing Automation ให้กับภาคธุรกิจ ในเบื้องต้น ทางทีเคเคก็ไม่ได้จ้างบริษัทมาทำ แต่ได้พัฒนาระบบนี้ขึ้นโดยทีมงานของเราเอง ทำให้ในปัจจุบันมีบ็อตใช้เองในบริษัทถึง 50 ตัว และนี่เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เรามีองค์ความรู้ในเทคโนโลยีนี้ และมีความคิดที่จะประสานความร่วมมือกับ สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA) เพื่อเปิดหลักสูตรอบรมระยะสั้นให้กับบุคคลภายนอกที่สนใจเรียนรู้ในเทคโนโลยีนี้”

“วันนี้เราจึงกล่าวได้ว่า ทีเคเคต่อยอดการเป็น องค์กรแห่งการเรียนรู้ ที่คิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีออกมาอย่างต่อเนื่อง จากนั้น จะนำมาใช้ในองค์กรเพื่อพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพก่อน และเมื่อใช้ได้ดี เราก็จะมั่นใจว่าถ้าที่อื่นนำไปใช้ก็จะนำไปใช้ได้อย่างมีประโยชน์เหมือนกัน ซึ่งเราสามารถที่จะไปสอนให้เขาใช้งานเป็น ไม่ใช่เป็นการไปขายของอย่างเดียว”

“สำหรับการขยายความร่วมมือไปกับภาคการศึกษา เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็นสินค้าและบริการที่ทางทีเคเคมีความเชี่ยวชาญ ได้ทำออกมาหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น”

การเป็นวิทยากรให้กับสถาบันการศึกษา

ทั้งตัวคุณกัลยาณี ผู้บริหาร และพนักงานของทีเคเคทุกคน ได้ไปเป็นวิทยากรให้กับหลากหลายหลักสูตรที่เกี่ยวกับ ไอที เทคโนโลยี นวัตกรรม ด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ใช้ในภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรม นอกจากนั้น คุณกัลยาณี ยังได้รับเป็นอาจารย์พิเศษ ถ่ายทอดประสบการณ์การทำธุรกิจให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยด้วย

มอบหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ ให้กับสถาบันการศึกษา เพื่อนำไปใช้ในการเรียนการสอน

ที่ผ่านมา ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้สนับสนุนสำคัญให้กับภาคการศึกษาทั่วประเทศ ในการมอบ เครื่องไม้เครื่องมือ หุ่นยนต์ ระบบบอัตโนมัติ ให้กับสถาบันการศึกษา เพื่อให้นำไปใช้ในการเรียนการสอนของนักศึกษาและคณาจารย์ ซึ่งทำให้นักศึกษาได้เรียนกับสิ่งที่เขาต้องใช้ในการทำงานจริง ทำให้เมื่อเรียนจบและทำงานก็คุ้นเคยกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีนั้นและสามารถทำงานได้เลย

เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ

ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น ได้จัดโครงการ Innovedex ซึ่งเป็นการแข่งขันและอบรมหุ่นยนต์ ที่จัดติดต่อกันมา 2 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาในวันนี้ มีการวางแผนว่าจะกลับมาจัดอีกครั้ง เพื่อเปิดเวทีแห่งโอกาสให้กับเยาวชนทั่วประเทศ มาประกวด แข่งขัน และเรียนรู้ร่วมกัน ในการเขียน Coding แล้วสร้างหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ

ยกระดับ “นักศึกษาฝึกงาน” ให้ได้ทำงานท้าทายในองค์กร

เพิ่มศักยภาพให้โครงการฝึกงาน ด้วยแนวคิด การโยนโจทย์ยาก ให้นักศึกษาฝึกงาน ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับวิศวกร และ ฝ่ายขาย ของทีเคเค ซึ่งทำให้นักศึกษาที่มาฝึกงานกับทีเคเคมีความกระตือรือร้น รู้สึกท้าทาย สนุกกับการเรียนรู้ในการทำงานจริง

ยกตัวอย่าง การให้นักศึกษาฝึกงานได้เดินทางลงพื้นที่ไปตามต่างจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย รวมถึงไปยังประเทศเพื่อบ้าน เพื่อติดตั้งหุ่นยนต์ในต่างจังหวัดกับวิศวกร โดยให้วิศวกรของทีเคเคเป็นพี่เลี้ยงประกบ สอนงาน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้ในสถานการณ์การทำงานจริง

ที่ผ่านมา ผลลัพธ์ในการปฏิบัติเช่นนี้ เกิดขึ้นในรูปแบบของ Win : Win Situation คือ นักศึกษาได้เรียนรู้และพร้อมนำองค์ความรู้นั้นไปใช้ในการทำงาน ส่วนบริษัท ก็ได้ผลงานที่มีประสิทธิภาพจากนักศึกษาฝึกงาน ตนที่ผ่านมา เมื่อระยะเวลาฝึกงานสิ้นสุดลง และนักศึกษาคนไหนมีศักยภาพ ทางบริษัทก็จะรับเข้าทำงานต่อเลย นี่เป็นข้อดีที่บริษัทฯก็จะได้พนักงานที่มีทักษะตรงกับตำแหน่งและความรับผิดชอบด้วยนั่นเอง

เจาะแผนการตั้ง TKK Academy ขับเคลื่อนภาคการศึกษาไทย พัฒนาบุคลากรตอบสนองอุตสาหกรรมเป้าหมาย

จะเห็นได้ว่า แนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนภาคการศึกษาไทย แทบจะเป็นทางคู่ขนานกับการทำธุรกิจของ ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น ที่สร้างผลตอบกลับมาให้องค์กรได้อย่างแท้จริง ซึ่ง คุณกัลยาณี ได้ให้มุมมองเพิ่มเติมเรื่องการพัฒนาคนและอัปเดตข้อมูลโครงการสนับสนุนภาคการศึกษาในอนาคต โดยเฉพาะแผนการตั้ง TKK Academy ว่า

“ในฐานะผู้บริหารทีเคเค เรามีความยินดีในผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากความเชื่อมั่นในการสร้างให้ทีเคเคเป็น องค์กรแห่งการเรียนรู้ ที่ดีเอ็นเอนี้ก็อยู่ในตัวผู้บริหารทุกคน ที่เป็นต้นแบบของ Practitioner หรือผู้บริหารที่ลงมือทำ พร้อมเปิดรับความรู้ใหม่ๆ และไม่หยุดออกไปสร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่น และดีเอ็นเอนี้ยังถ่ายทอดไปยังพนักงานของเรา ที่ซึมซับและปฏิบัติตาม ผู้บริหารที่เป็น Role model นั่นเอง”

“ส่วนในเรื่องของการสนับสนุนในภาคการศึกษา ในตอนนี้หลายท่านอาจจะมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไกลตัว เพราะเราเป็นนักธุรกิจก็ต้องโฟกัสอยู่กับเรื่องการขายของ ในเรื่องการเรียน การสอน การศึกษา ดูจะไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรา แต่เอาเข้าจริงแล้ว ถ้าการศึกษาของชาติดี สามารถผลิตกำลังคนคุณภาพได้ ก็ย่อมเป็นองค์ประกอบที่จะเติมเต็มอีโคซิสเตมในการดำเนินธุรกิจของเราได้”

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนนี้ที่ทั่วโลกประสบกับวิกฤตที่ประชากรเกิดน้อยลง และมีแนวโน้มที่จะลดต่ำลงเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น เมื่อคนเกิดน้อยลง จำนวนนักศึกษาที่จะเรียนจบก็น้อยลง คนที่จะมาทำงานก็น้อยลง เราคงไม่ได้สร้าง นักศึกษา ให้เขาเรียนจบ แค่นั้น แต่เราควรมีส่วนร่วมสร้างนักศึกษาให้เขาเรียนจบและสามารถทำงานได้ทันที”

“ทีเคเค จึงมีแนวทางในการเทรนนักศึกษาฝึกงานแบบ On site คือ ให้โอกาสทำงานหน้างานจริง ซึ่งเรามองว่าเป็น Win : Win Situation คือ นักศึกษาที่มาฝึกงานก็ได้ช่วยงานบริษัท ทำให้บริษัทก่อเกิดรายได้ ส่วนนักศึกษาก็จะได้เรียนรู้ ฝึกฝน ทักษะ ผ่านการทำงานจริง เรามองว่าเป็นการต่างตอบแทน ที่มากกว่าการให้บริจาคของ แต่การเปิดโอกาสในการได้เรียนรู้ของเยาวชนไทย”

“การทำเช่นนี้เราเชื่อมั่นว่าเป็นการสร้าง Value มากกว่าเม็ดเงินมหาศาล เพราะเป็นการบ่มเพาะ สร้าง ทรัพยากรบุคคลคุณภาพ ที่สอดคล้องกับยุคที่เรามีประชากรเกิดน้อย ดังนั้น ต้องสร้างประชากรเหล่านั้นให้เป็นประชากรคุณภาพให้ได้ และบ่มเพาะเขาให้มีความสามารถไปช่วยภาคธุรกิจให้ได้เร็วที่สุด นี่คือการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้อย่างแท้จริง”

“ดังนั้น ตอนนี้จึงมีความชัดเจนมาก ที่ภาคธุรกิจจะต้องใช้ภาคการศึกษา เป็นกลไกในการขับเคลื่อน สร้าง value ทางธุรกิจให้เกิดขึ้น และถ้าวันนี้ภาคธุรกิจไม่มาร่วมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาคน พัฒนาแรงงานของชาติ เชื่อแน่ว่าปัญหาเรื่องคนมันก็จะวนมาหาภาคธุรกิจอยู่ดี อย่างปัญหาเรื่องการได้คนมาทำงานที่ไม่สอดคล้องกับตำแหน่งงาน ความรับผิดชอบที่ทำ”

“ในอนาคตอันใกล้ ทางทีเคเคก็ได้มองเรื่องการสนับสนุนภาคการศึกษาในหลายรูปแบบ โดยมุ่งเน้นความร่วมมือกับหลายภาคส่วน และโครงการเด่นที่เราวางไว้ คือ เราจะตั้ง TKK Academy ซึ่งเป็นการนำ TKK Eco-system ทั้งหมดออกมาและอบรมให้กับนักศึกษามากขึ้นโดยอาจจะจัดเป็นหลักสูตรระยะสั้น”

“สำหรับ TKK Academy เราก็ได้วางหลักสูตรหลัก ในเรื่องของ TKK Eco-system ที่ประกอบด้วยการสอนองค์ความรู้ด้านเอไอ ที่เป็นทั้ง AI voice, AI Image และโรบอตทั้งหมดที่เป็น โรบอตสมัยใหม่ Autonomous mobile robot, Autonomous car หรือ vehicle และก็มาในเรื่องของเทรนด์ยอดฮิตตอนนี้กับ เทรนด์ Remote working เช่น การทำงาน โดยใช้โปรแกรม SCADA รวมไปถึง สอนเรื่อง Metaverse, AR, VR, 5G, IoT ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นเทคโนโลยีที่คนยุคนี้ต้องใช้และเรียนรู้ ซึ่งเราวางหลักสูตรให้สอนแบบเข้าใจง่าย นำไปปรับใช้ได้จริง”

“นอกจากนั้น เรายังวางแผนต่อยอดไปจัดเป็นการแข่งขันให้นักศึกษาได้ส่งไอเดีย การคิดค้นนวัตกรรม มาประกวดกัน และไอเดียไหนดี สร้างสรรค์ ก็จะสนับสนุนในรูปแบบของ สตาร์ทอัพ ที่มี TKK เป็นพี่เลี้ยงและสนับสนุนทุน โดยโปรเจกต์ แบบนี้ ได้เริ่มทำแล้วกับ บริษัท ซีร่าออโตเมชั่นแอนด์เทคโนโลยี จำกัด ที่สนับสนุนให้นักศึกษาจากปัญญาภิวัฒน์ที่จบมา และให้รันธุรกิจนี้เอง”

“โดยทีเคเคจะเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาทางธุรกิจ จาก วิศวกร เซลเมเนเจอร์ ของทีเคเค ที่จะมาประกบดูแลให้คำแนะนำ เพราะเราเชื่อว่า น้องๆมีความสามารถในฐานะสตาร์ทอัพจริง แต่อาจจะยังหาลูกค้าไม่เก่ง หรือยังไม่เก่งในเรื่องการบริหารการเงิน ตรงนี้ทางทีเคเคก็จะเข้าไปช่วย เพราะทีเคเคมีเซลล์มากว่า 60 ชีวิต มีรายชื่อลูกค้ามากกว่า 10,000 รายชื่อ เราเชื่อมั่นว่า จากประสบการณ์ของบุคลากรของเรา เราช่วยให้ธุรกิจเขาเกิดได้แน่นอน” คุณกัลยาณีกล่าวย้ำในที่สุด


ข่าวจาก salika.co