ปี 2023 นับเป็นปีแห่งความหวังของ ภาคอุตสาหกรรมไทย เนื่องจากวิกฤตโรคระบาดเริ่มคลี่คลาย และตั้งแต่ปี 2022 ก็มีสัญญาณการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยเกิดขึ้นอย่างชัดเจน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ในปีนี้ ผู้บริหาร หรือ CEO ของบริษัทที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมไทย จึงออกมาประกาศถึงแผนการดำเนินธุรกิจเชิงรุก เพื่อติดเครื่องยนต์และขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างโดดเด่นในระดับภูมิภาคและในระดับโลกต่อไป

ซึ่งมุมมองน่าสนใจในการเดินหน้าพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของเรานั้น มีไม่น้อยเลยที่มาจาก CEO หญิงแกร่ง หรือ “ผู้บริหารหญิง” โดยในแวดวงอุตสาหกรรมของไทยก็มีผู้บริหารหญิงไม่น้อยที่มีชื่อเสียงและมีความสามารถที่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

วันนี้เราจึงได้วิสัยทัศน์ของ 3 CEO หญิงแกร่ง แห่งภาคอุตสาหกรรมไทยต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยในแต่ละด้านที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศมานำเสนอ ซึ่งแต่ละแนวทางสามารถนำไปต่อยอดสร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน

จรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท WHA Corporation

จรีพร จารุกรสกุล : Let’s go for 2023 Logistics Trends

ขอเริ่มต้นด้วย CEO หญิงแกร่งที่เมื่อเอ่ยชื่อแล้ว เชื่อว่าน้อยคนที่จะไม่รู้จัก สำหรับ จรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท WHA Corporation บริษัทที่พัฒนาการสร้างและให้เช่าคลังสินค้า ตั้งศูนย์กระจายสินค้าและโรงงาน โดยเน้นตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด โดยปัจจุบันบริหารจัดการพื้นที่คลังสินค้าประมาณ 2 ล้านตารางเมตร ประกอบไปด้วย โรงงานสำเร็จรูปและโรงงานผลิตสินค้าสำเร็จรูป

นอกจากนั้น เมื่อปีที่ผ่านมา ชื่อของคุณจรีพรได้รับการกล่าวถึงอีกครั้งผ่านผลงานการปิดดีลใหญ่ยักษ์ เมื่อ WHA เซ็นสัญญาซื้อขายที่ดิน 600 ไร่ ให้ BYD บริษัทผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน ได้มาตั้งโรงงานรถยนต์พลังงานใหม่แห่งแรกอาเซียน ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง ซึ่งคาดว่าจะเดินหน้าผลิตได้ในปี 2567

และมาในช่วงไตรมาศแรกของปี 2023 คุณจรีพร ได้เผยแพร่ข้อเขียนที่คาดการณ์ แนวโน้มการพัฒนาของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์โลก ในยุคหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งหลังจากอ่านข้อเขียนนี้แล้วเชื่อว่าทุกคนจะได้มุมมองดีๆ จาก CEO หญิงแกร่งท่านนี้ ในเรื่องของเทรนด์สำคัญที่จะเข้ามากำหนดทิศทางอนาคตของธุรกิจโลจิสติกส์ในปี 2023 นี้

“เมื่อเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับเชิญไปบรรยายในงาน Seminar 2022 By Transport Journal ภายใต้หัวข้อ Thailand Seamless: Moving Forward & Go Green ซึ่ง หนึ่งในประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ฟังในการบรรยายครั้งนี้ ได้แก่ แนวโน้มการพัฒนาของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์โลก ในยุคหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นั่นเอง”

จรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท WHA Corporation

“ผู้เขียนจึงขอถือโอกาสใช้พื้นที่นี้เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับ 5 เทรนด์สำคัญที่จะเข้ามากำหนดทิศทางอนาคตของธุรกิจโลจิสติกส์ในปี 2023 ดังต่อไปนี้”

1. Digitalization, Data and Visibility ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ระดับโลกต่างนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัล อุปกรณ์เครื่องมือสมัยใหม่ และระบบสารสนเทศมาใช้ช่วยในการบริหารจัดการทำให้บริษัทสามารถเก็บข้อมูล ได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งมีส่วนช่วยให้บริษัทสามารถประมวลผลข้อมูลให้ได้ insight ทางธุรกิจ และยังเพิ่มการควบคุมและการมองเห็นข้อมูลตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Visibility)

2. Sustainable Shipping and Environment Regulation การร่วมลงนามในแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติทำให้ทุกภาคส่วนคำนึงถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกันมากยิ่งขึ้น หลายประเทศจึงทะยอยออกมาตรการเพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เองก็มีความพยายามนำนวัตกรรมมายกระดับกระบวนการทำงานและธุรกิจให้พัฒนาไปตามแนวทางของความยั่งยืนและสอดคล้องกับกฎ ระเบียบ และเกณฑ์ทางด้านสิ่งแวดล้อม

3. Rising Diesel Prices สงครามระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครนได้ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลได้ปรับตัวสูงขึ้นถึง 55% ในช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่าน ด้วยสถานการณ์สงครามที่ยังคงยืดเยื้อทำให้น้ำมันดีเซลที่ส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนด้านโลจิสติกส์ หรือ Logistics Operating Costs นั้นยังคงมีราคาที่สูง

4. Reshoring and Nearshoring for Manufacturers ความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนนับเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนการจัดส่ง (Shipping Costs) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ผู้ประกอบการโลจิสติกส์จึงต่างหันกลับมาพิจารณาทางเลือกของการใช้แหล่งวัตถุดิบและ Supplier ในภูมิภาค ตลอดจนย้ายฐานการผลิตกลับมายังประเทศของตนหรือประเทศใกล้เคียงเพื่อลดระยะเวลาการขนส่งและความเสี่ยงไปพร้อมๆ กัน ซึ่งกระแสการโยกย้ายนี้ได้ถูกคาดการณ์ว่าจะยังคงดำเนินต่อไป

5. Automation คงปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบอัตโนมัติ หรือ Automation และเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่าง Artificial Intelligence, Machine Learning, Computer Vision, IoT และ Blockchain นั้นได้เข้ามามีบทบาทและช่วยให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจการขนส่งสินค้า (Transportation) และ ธุรกิจคลังสินค้า (Warehousing) สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ปรับปรุงกระบวนการทำงาน อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าได้อีกด้วย

“ภาคธุรกิจโลจิสติกส์ทั่วโลกนั้นก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและต่างตื่นตัวในการปรับตัวให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างจริงจัง รวมถึงผู้ประกอบการโลจิสติกส์ชั้นนำของไทยอย่าง WHA Group เองก็ได้นำเทคโนโลยีใหม่ อาทิ ระบบ IoT, Automation และ Data Analytics มาช่วยเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ในขณะเดียวกันยังมุ่งพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมดังจะเห็นได้จากการพัฒนาธุรกิจด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ธุรกิจพลังงานทดแทน และ ธุรกิจด้านโลจิสติกส์สีเขียว เป็นต้น”

“การผลักดันของผู้ออกกฎหมาย ความต้องการของผู้บริโภค หรือผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องนั้นถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัทหรือผู้ประกอบการโลจิสติกส์จึงควรคว้าโอกาสจากการส่งเสริมในช่วงเวลานี้เร่งปรับตัวรับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม การดูแลสังคม และการกำกับดูแลขั้นสูง อันจะช่วยให้บริษัทสามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระยะยาวนั่นเอง”

กัลยาณี คงสมจิตร ประธานกรรมการ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด

กัลยาณี คงสมจิตร : ก้าวต่อไปของ TKK Group กับการเป็น บริษัท SI สัญชาติไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก

สำหรับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ หลายคนอาจมีภาพจำของผู้บริหารบริษัทที่เป็นผู้ชายเท่านั้น จนกระทั่งได้มารู้จักกับ บริษัทเทคโนโลยีและนวัตกรรมสัญชาติไทย TKK Corporation ก็จะได้รู้ว่าองค์กรแห่งนวัตกรรมแห่งนี้มี CEO หญิงแกร่ง กัลยาณี คงสมจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่รับบทบาทสำคัญเป็น “แม่ทัพหญิง” นำพาชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทย ในนามบริษัทผู้ผลิต “หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสัญชาติไทย” ที่ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ

มาในวันนี้ TKK Corporation ได้วางกลยุทธ์ ก้าวสู่ TKK Group ซึ่งมีบริษัทในเครือที่มีความพร้อมเป็น System Integrator หรือ SI สัญชาติไทยครบวงจร ที่จะเคียงข้างภาคการผลิตของไทย ช่วยยกระดับให้อุตสาหกรรมไทยเดินหน้าสู่ อุตสาหกรรม 4.0 หรือ Digital Industry ได้ในเร็ววัน โดย คุณกัลยาณี อัปเดตการดำเนินงานในธุรกิจล่าสุดให้ฟังว่า

“TKK Group แบ่งธุรกิจออกเป็น 2 กลุ่ม ซึ่งธุรกิจทั้ง 2 กลุ่ม เราให้ความสำคัญไม่แพ้กัน โดยกลุ่มแรก คือ TKK Corporation ในส่วนตรงนี้เราทำ Smart Industrial Equipment and Automation ทั้งหมด ส่วนกลุ่มที่สองเป็นฝั่ง Digital Technology Products ที่เราตั้งบริษัทในเครือ คือ บริษัท KSI Solution จำกัด ถือหุ้นโดย TKK และก่อตั้งมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ปรากฎว่ามีฟีดแบคที่ดีมากๆ”

กัลยาณี คงสมจิตร ประธานกรรมการ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด

“ต้องยอมรับว่าเป็นความโชคดีที่เราจับทิศทางของธุรกิจที่ถูกต้อง ทำให้ธุรกิจของเราสอดรับกับกระแสโลกดิจิทัลปัจจุบัน และเทรนด์การพัฒนาของภาคการผลิตและอุตสาหกรรมที่กำลังพัฒนาไปสู่ อุตสาหกรรม 4.0 ในหลากหลายมิติ ดังนี้

Digital Manufacturing

การพัฒนาเกี่ยวกับ Equipment และการซัพพลายสำคัญมาก และตอนนี้เราก็ได้พัฒนาเอาดิจิทัลแพลตฟอร์มมารองรับ ช่วยให้ตอบรับความต้องการของลูกค้าได้เร็วขึ้น ตอบสนองหลายๆ ด้านให้กับลูกค้าได้มากขึ้น

Production Technology Shift

ภาพรวมและแนวโน้มของอุตสาหกรรม ที่ในอนาคตข้างหน้าอุตสาหกรรมไทยจะโตไปได้อีกมาก โดยเฉพาะเรื่องของเทรนด์การใช้หุ่นยนต์และระบบออโตเมชั่น ที่ทำให้เกิดการใช้แรงงานคนน้อยลง และจะไปพึ่งพาเทคโนโลยีในภาคการผลิตมากขึ้น

Automation Manufacturing

ช่วงเวลาที่ผ่านมามีโรงงานอุตสาหกรรมไม่น้อยที่ปรับกระบวนการผลิตให้เป็นระบบ Automation Manufacturing

ทำให้เทรนด์การใช้ระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมไทยมาแรงขึ้น ซึ่งอาจต้องอาศัยเม็ดเงินในการลงทุนในช่วงต้นที่ค่อนข้างสูง แต่หลังจากผ่านไปสักระยะหนึ่งก็จะมีการคืนทุน ที่เหลือก็จะเป็นกำไรกลับคืนสู่ธุรกิจ

นอกจากนั้น คุณกัลยาณี ได้เน้นย้ำถึงการทำธุรกิจในฝั่ง Digital Technology Products กับบริษัทในเครือ คือ บริษัท KSI Solution จำกัด ว่า

“การก่อตั้ง KSI Solution ขึ้นมาเป็นเพราะเราเล็งเห็นโอกาสในด้านการเป็นผู้ผลิต คิดค้น ออกแบบ ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ รวมถึง ระบบ AI ที่ใช้ในโรงงานสมัยใหม่ เพราะฉะนั้น ที่ KSI จึงนำเสนอโซลูชั่น ในหลากหลายด้านเกี่ยวข้องกับ Digital Technology ที่กำลังมาแรง ได้แก่

1. Robotic Machine and AI

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ได้เกิดเทรนด์ความต้องการ SI หรือ System Integrator ผู้ที่จะมาวางระบบ Digital Manufacturing ให้กับโรงงานสมัยใหม่ในไทย ทำให้บริษัทที่ให้บริการในฐานะ SI มีความหมายกับประเทศไทยมาก เพราะถ้าเราจะยกระดับภาคการผลิตให้เป็นดิจิทัล จำเป็นต้องมี SI เป็นผู้เชื่อมระบบตรงนี้ให้เกิดขึ้น โดยเชื่อมโยงฮาร์ดแวร์กับซอฟต์แวร์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า

ขณะเดียวกัน ความท้าทายของ SI คือ การทำให้ลูกค้ามีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงลงทุนไปในช่วง Middle time หมายความว่า เมื่อผ่านระยะที่ต้องใช้เงินลงทุนเยอะ แล้วหลังจากดำเนินการผ่านไประยะหนึ่ง ลูกค้าก็ค่อยๆได้รับผลตอบแทน ตรงนี้เป็นหน้าที่เราจะต้องอธิบายให้ลูกค้าได้เห็นร่วมกันให้ได้ โดยต้องทำให้ลูกค้ามั่นใจว่า ทาง TKK Corporation และ KSI Solution มีจุดแข็งที่เราเป็นตัวแทนจำหน่าย อะไหล่ Spare parts เครื่องจักร ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ ที่มีเครือข่ายกับบริษัทผู้ขายทั่วโลก

ยกตัวอย่าง ที่ประเทศญี่ปุ่น เราก็มี Supply Chain ที่ดีมาก แทบทุกหัวเมืองในญี่ปุ่นเรามีสต๊อกเก็บไว้กับซัพพลายเออร์เรา เพราะฉะนั้นเราสามารถกำหนดเวลาส่งของได้อย่างแม่นยำ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำ SI

2. IoT Solution

ที่ผ่านมา ทาง TKK Corporation และ KSI Solution ได้ร่วมกันนำเสนอโซลูชั่น e-F@ctory ร่วมกับพันธมิตร เช่น มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น และเครือข่าย AIS 5G ที่พร้อมให้บริการและยกระดับภาคการผลิตด้วย Smart Manufacturing ที่จะมาเสริมประสิทธิภาพการทำงานภายในภาคการผลิตได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งการเพิ่มคุณภาพ ลดต้นทุนการผลิต และตอบรับความต้องการการใช้งานในรูปแบบเครือข่ายเฉพาะ (Private Network) อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยของข้อมูล ความเร็ว ลดความหน่วง เพื่อการรองรับการทำงาน IoT ได้อย่างเต็มรูปแบบ

3. Smart Service Robot หรือหุ่นยนต์บริการ

ในวิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้น ทำให้เราเห็นได้ชัดว่า ทุกฟังก์ชันของหุ่นยนต์บริการต้องตอบโจทย์การให้บริการแบบไร้การสัมผัสให้มากที่สุด จากเดิมที่หุ่นยนต์บริการ อาจมีบทบาทแค่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ความทันสมัยให้กับภาคธุรกิจ มาในวันนี้ หุ่นยนต์บริการมีบทบาทมากกว่านั้น เพราะเป็นตัวช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนคนทำงานในช่วงวิกฤตโควิด และ ช่วยลดการสัมผัสที่สร้างความเสี่ยงให้กับคนทำงานได้ด้วย การลงทุนในหุ่นยนต์บริการนี้จึงมีความคุ้มค่าแน่นอน

“ดังนั้น เมื่อจุดแข็งที่กล่าวมา ได้มาผนวกเข้ากับองค์ความรู้ด้าน SI ที่เรามี ทำให้เกิดการวางระบบดิจิทัลที่ใช้ในการผลิตที่ดี บวกกับความพร้อมของระบบ IoT และ 5G ของไทย Ecosystem ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะรวมกันเป็นขุมพลัง ที่ช่วยสร้างประสิทธิภาพให้กับภาคอุตสาหกรรมไทยได้แน่นอน”

“เพราะ ณ วันนี้เราไม่ได้อยู่เดียวดาย เราไม่ได้อยู่คนเดียว เราอยู่บนโลกใบนี้ นอกจากการทำมาหากินให้กำไรกับองค์กรแล้ว ก็ต้องคืนกลับสู่สังคมได้ TKK จึงมองตัวเองว่า เราไม่ใช่แค่ส่วนเล็กๆ แต่เป็นส่วนสำคัญมากที่จะช่วยเหลือโลกใบนี้”

“ดังนั้น Vision หรือวิสัยทัศน์ใหม่ของ TKK ก็คือ Transforming work with robotics automation and AI technology to help people do their best. นั่นคือ การมุ่งสู่การเป็นผู้ Transform หรือเปลี่ยนงานของลูกค้าหรือคู่ค้าด้วยการปรับเอาเทคโนโลยี อย่าง หุ่นยนต์ มีระบบอัตโนมัติ มี AI ปัญญาประดิษฐ์ เพื่อช่วยให้เขาทำงานของพวกเขาให้ดีที่สุดได้ต่อไปในอนาคต”

“และในปี 2023 นี้ ก็ได้วางแผนว่าจะเปิดตัว Digital Hypermarket สำหรับ Tech Industrial Products โดยที่มาของนวัตกรรมนี้มาจากการต่อยอดธุรกิจดั้งเดิมของ TKK ในการ Sourcing หา Spare parts อะไหล่ต่างๆของเครื่องจักร ดังนั้นเรามีฐานข้อมูลเหล่านี้อยู่ไม่น้อย จึงง่ายต่อการทำ Digital Hypermarket”

“เพราะ ณ วันนี้ ลูกค้าเสียเวลาในการเช็กของหาของ หาพาร์ทอะไหล่พวกนี้ใช้เวลานานมาก ดังนั้น ถ้ามีแอปพลิเคชันใดแอปพลิเคชันหนึ่งรองรับแล้วมีแบรนด์ต่างๆ มีไอเทมต่างๆ เป็นล้านกว่าไอเทม สามารถเช็กได้ทันทีภายใน 1-2 นาที ว่ามีของหรือไม่ ย่อมจะช่วยอำนวยความสะดวก ลดระยะเวลาลงได้ ซึ่งเราวางแผนว่าจะเปิดตัว Digital Hypermarket Platform ในกลางปีนี้”

ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์

ชฎาทิพ จูตระกูล : กลยุทธ์ Above the Ocean ทางรอดของ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ศูนย์การค้า และการบริการ ยุคหลังโควิด

หากเอ่ยชื่อ 5 ห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่ เชื่อว่าขาช้อปทั้งชาวไทยและต่างประเทศต่างต้องรู้จัก ไม่ว่าจะเป็น สยามพารากอน ไอคอนสยาม สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และสยามพรีเมียม เอาท์เล็ต ซึ่งห้างสรรพสินค้าทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การดูแลของ กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ ที่แน่นอนว่ามีผู้บริหารเป็น CEO หญิงแกร่ง อย่าง ชฎาทิพ จูตระกูล เป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์

โดยตลอด 63 ปี ที่ผ่านมา สยามพิวรรธน์ดำเนินธุรกิจอยู่คู่กับประเทศไทย ผ่านวิกฤตมาทุกรูปแบบ โดยเฉพาะในย่านใจกลางเมืองหลวงอย่างสยาม ซึ่งเป็นสมรภูมิทางการค้าสำคัญของประเทศ แต่ก็สามารถนำพาธุรกิจของคู่ค้าและร้านค้าทั้งหมดให้ผ่านพ้นทุกวิกฤตด้วยดีมาได้ทุกยุคสมัย

โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิดสยามพิวรรธน์เองก็ได้รับผลกระทบมากมายไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆ แต่แน่นอนว่าประสบการณ์ที่สั่งสมมาได้กลายเป็นอาวุธครบมือที่นำพาธุรกิจให้ก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้มาได้อย่างสง่างามอีกครั้งหนึ่ง

“การที่ผู้บริหารจะต้องประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นทุกสถานการณ์เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่การพลิกเกมธุรกิจให้ก้าวไปสู่อนาคตได้เป็นเรื่องที่ท้าทายยิ่งกว่า” ด้วยตระหนักในความจริงข้อนี้ ทำให้ คุณชฎาทิพ ได้ใช้ทุกวิกฤตเพื่อปรับมาเป็นโอกาสในการเดินหน้าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ศูนย์การค้า และบริการ ของไทย ให้พลิกฟื้นทำกำไรให้กลับมาได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งแน่นอนว่าวิกฤติโควิดครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน

ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์

“โควิดที่ผ่านมา สยามพิวรรธน์กลับมองว่าเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ และได้ใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากวิกฤตครั้งก่อนๆ ผนวกกับการตัดสินใจปรับตัวปรับองค์กรอย่างรวดเร็วทำให้สามารถรับมือครั้งนี้ได้ ส่งผลให้ผลประกอบการใน 9 เดือนแรกของปี 2565 เติบโตมากกว่าช่วงเดียวกันของปี2562 ก่อนสถานการณ์โควิด ทั้งๆ ที่ยังไม่มีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามา”

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสยามพิวรรธน์ ไม่ได้ตั้งเป้าอยากเป็นที่หนึ่งเรื่องของจำนวนศูนย์การค้า และไม่ได้ปรารถนาเป็นที่หนึ่งเรื่องการครองตลาดให้มีพื้นที่ที่มากที่สุด แต่สยามพิวรรธน์กลับใช้กลยุทธ์ Top of Mind 4 ด้าน ที่นำพาธุรกิจให้ยืนหยัดมาได้เสมอถึงวันนี้”

1. ที่หนึ่งในใจผู้คน ไม่ใช่แค่เฉพาะคนไทยแต่เป็นของคนทั้งโลก ซึ่งเป้าหมายนี้เป็นจริงได้เมื่อ สยามพารากอนติดอันดับ 6 บน Global Facebook เป็นสถานที่มีผู้เช็คอินมากที่สุดของโลก และยังเป็นสถานที่ที่มีคนเช็คอินมากที่สุดบน Instagram ทุกศูนย์การค้าของสยามพิวรรธน์ได้รับการโหวตจากนักท่องเที่ยวต่างชาติว่าเป็นศูนย์การค้าที่พวกเขาชื่นชมมากที่สุดตลอดมา

2. ที่หนึ่งในใจคู่ค้า สยามพิวรรธน์ยึดมั่นในหน้าที่ที่ต้องทำทุกวิถีทางที่จะทำให้คู่ค้าร้านค้านับหมื่นรายในศูนย์การค้าประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง มีบทพิสูจน์ว่าสามารถสร้าง traffic โดยรวมในศูนย์การค้าได้มากกว่า 100 ล้านคนต่อปี ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวมากกว่า 25 ล้านคน ส่งผลให้ร้านค้าหลายแบรนด์ที่เปิดสาขากับสยามพิวรรธน์มียอดขายเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ และแบรนด์จากต่างประเทศก็มียอดขายติดอันดับ TOP 10 ของโลกเมื่อเปรียบเทียบกับสาขาอื่นๆ

3. ที่หนึ่งในใจพันธมิตรทางธุรกิจ ที่ผ่านมา ศูนย์การค้าของสยามพิวรรธน์ จับมือกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสร้างต้นแบบธุรกิจใหม่ๆ ร่วมกันสร้างประสบการณ์เหนือความคาดหมายให้แก่ลูกค้าของพันธมิตรต่างๆ ตลอดมา

4. เป็นที่หนึ่งของโลก เพราะศูนย์การค้าคือแม่เหล็กสำคัญที่เสริมสร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้เป็น shopping paradise ที่จะดึงดูดคนทั้งโลก สยามพิวรรธน์จึงมุ่งมั่นสร้างโครงการที่จะแข่งขันกับโครงการใหญ่อื่นๆทั่วโลก เพื่อสร้างความยอมรับนับถือในวงการศูนย์การค้าโลกและสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย ทุกศูนย์การค้าของสยามพิวรรธน์จึงคว้ารางวัลที่หนึ่งจากองค์กรระดับโลกมากกว่า 40 รางวัล ในสาขาต่างๆซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยมีศูนย์การค้าใดในประเทศและในภูมิภาคเอเซียได้รับรางวัลและเป็นที่กล่าวขวัญถึงมากเช่นนี้

“และกลยุทธ์ใหม่ของสยามพิวรรธน์ คือ การเปลี่ยนจาก Blue Ocean Strategy ไปสู่ Above the Ocean Strategy ซึ่งก็คือ กลยุทธ์ที่อยู่เหนือการเปลี่ยนแปลง โดยถอยตัวเองออกมาและมองธุรกิจในบริบทใหม่ ทำลายกรอบเดิมๆ ในการทำธุรกิจให้หมดสิ้นไป พร้อมสรรค์สร้างสิ่งใหม่ๆบนคุณค่าที่เป็นต้นทุนของเราอย่างไม่มีข้อจำกัด ดำเนินธุรกิจโดยปราศจากคู่แข่งแต่เปี่ยมไปด้วยพันธมิตร ร่วมกันสร้าง Ecosystem เพื่อความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่าและยั่งยืน สร้างโลกใหม่ที่ไร้พรมแดน และเปี่ยมด้วยโอกาสหลากหลายมิติ ด้วยกลไกต่างๆ เช่น”

1. การแบ่งปันประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ทุกฝ่าย (Sharing Economy) ผ่าน ONESIAM SuperApp และ VIZ COINS

2. ร่วมมือเพื่อเติบโตไปด้วยกัน (Collaboration To Win) โดยสร้างระบบนิเวศแห่งความสำเร็จร่วมกับ 50 พันธมิตร 13 อุตสาหกรรมที่ได้เริ่มทำงานร่วมกันแล้ว

3. สร้างความยั่งยืนผ่านทุกกระบวนการและในทุกธุรกิจที่ดำเนินการ (Sustainable Value In Process) เพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันในทุกภาคส่วน ทั้งกับผู้คน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ สร้างนิยามและบุกเบิกธุรกิจใหม่ทั้งในรูปแบบ สินค้าบริการ และแพลตฟอร์มส่งเสริมให้เกิดโอกาสในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและส่งต่อโลกที่น่าอยู่ให้กับคนรุ่นหลังสืบต่อไป

“Above the Ocean Strategy ในแบบสยามพิวรรธน์ จะทำให้เราสร้างการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืนกับทุกภาคส่วน ทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกสู่สังคมชุมชน สิ่งแวดล้อม และเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำประเทศไทยสู่ความยิ่งใหญ่บนเวทีโลก” คุณชฎาทิพกล่าวสรุป


ข่าวจาก salika.co