ในห้วงเวลาที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในบ้านเรายังคงน่าเป็นห่วงนี่เอง ที่ทุกคนได้เห็นความร่วมมือร่วมใจของคนไทยและภาคธุรกิจไทย ซึ่งมุ่งไปยังเป้าหมายเดียวกัน คือ การส่งความช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ไปยังทัพหน้าหรือบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อต่อสู้กับการระบาดระลอกสามอันหนักหน่วง ปณิธานนี้มีอยู่ในบริษัทคนไทยนาม บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาและจัดจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในโรงงาน มาโดยตลอด ตั้งแต่ในการระบาดระลอกแรกมาจนถึงการระบาดระลอกใหม่ และในวันนี้ TKK Corporation ได้มอบ ‘หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคด้วย UV-C’ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ใน รพ.สนาม อย่างได้ผล

โดยการมอบ ‘หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคด้วย UV-C’ ให้กับ โรงพยาบาลสนามบุษราคัมในครั้งนี้ มี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มาเป็นประธานและเป็นผู้รับมอบด้วยความยินดียิ่ง

รู้ถึงต้นกำเนิด ‘หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคด้วย UV-C’ ฝีมือคนไทย ให้มากขึ้น ผ่านปณิธาน CEO หญิงแกร่งแห่ง ทีเคเค

กัลยาณี คงสมจิตร ประธานกรรมการ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท เคเอสไอ โซลูชั่น จำกัด ได้กล่าวถึงความตั้งใจในการมอบ หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคด้วยลำแสง UV-C’ ฝีมือคนไทย ให้กับ โรงพยาบาลสนามบุษราคัม พร้อมแผนในการต่อยอดการมอบหุ่นยนต์นี้ให้กับโรงพยาบาลในสังกัดกรมอนามัยทั่วประเทศต่อไปด้วย ว่า

กัลยาณี คงสมจิตร ประธานกรรมการ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท เคเอสไอ โซลูชั่น จำกัด

“ในวันนี้ เราได้มามอบ ‘หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคด้วยลำแสง UV-C’ ให้กับ โรงพยาบาลสนามบุษราคัม ที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งในตอนนี้ถือเป็นด่านหน้าที่รับรักษาผู้ติดเชื้อโควิดขนาดใหญ่ของกรุงเทพและปริมณฑล และต่อจากนี้เราจะได้ทยอยมอบหุ่นยนต์นี้ให้กับโรงพยาบาลสนามในสังกัด กรมอนามัย ทั่วไทย จำนวนทั้งสิ้น 24 ตัว โดยแต่ละตัวมีมูลค่า 200,000 บาท และเป็นหุ่นยนต์ที่คิดค้นและออกแบบโดยคนไทยอย่างแท้จริง”

“หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคด้วย UV-C’ นี้ จะทำหน้าที่ฆ่าเชื้อในอากาศและบนทางเดินในโรงพยาบาสนามได้ทั้งหมด และสามารถเคลื่อนที่ด้วยความเร็วได้ถึง 2 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง ดังนั้น หุ่นยนต์ตัวนี้ จึงสามารถแบ่งเบาภาระให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ในโรงพยาบาลสนามทุกแห่ง โดยเฉพาะพนักงานทำความสะอาดที่ต้องเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคด้วย UV-C ก็จะรับหน้าที่เสี่ยงนี้แทน”

“ในครั้งนี้ นอกจากหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อฯแล้ว ทางทีเคเค ได้มอบเครื่องพ่นละอองละเอียดให้อีก 10 เครื่อง และในอนาคตอันใกล้ เราจะได้ผลิต หุ่นยนต์ส่งยา ส่งอาหาร เพื่อมอบให้กับทางโรงพยาบาลที่ต้องการต่อไปด้วย”

“เพราะโดยพื้นฐาน ทีเคเค ทำธุรกิจเกี่ยวกับการเป็นผู้แทนจัดจำหน่าย ติดตั้งอะไหล่ของเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหลักอยู่แล้ว เราเลยมีอุปกรณ์ครบในการสร้างหุ่นยนต์เพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ของไทย ด้วยเหตุนี้ ทีเคเค จึงมีโปรเจ็กต์ออกแบบและผลิต หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติเพื่อให้บริการทางการแพทย์ ออกมาอยู่เรื่อยๆ ซึ่งเราตั้งใจว่าการคิดค้นนี้ไม่ใช่แค่เพื่อธุรกิจของเราเท่านั้น แต่เป็นการทำและส่งต่อให้กับสังคมและประเทศชาติได้ใช้ประโยชน์ด้วย”

เปิดคุณสมบัติโดดเด่นของ ‘หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคด้วยลำแสง UV-C’ พร้อมปฏิบัติการลดความเสี่ยงให้นักรบชุดขาวทั่วไทย

ด้าน ชาย บูรณจิตร์ภิรมย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ให้ข้อมูลของ หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อฯ ฝีมือคนไทย 100 เปอร์เซ็นต์ นี้ เพิ่มเติมอีกว่า

ชาย บูรณจิตร์ภิรมย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด

“ทาง ทีเคเค ได้ผลิตหุ่นยนต์ AGV Automatic Guided Vehicle หรือ รถขนถ่ายสินค้าและวัสดุอัตโนมัติในโรงงาน นับเป็นหุ่นยนต์ประเภทหนึ่งที่มาช่วยงานด้านการขนถ่าย เคลื่อนย้าย และลำเลียง จึงเป็นระบบอัตโนมัติที่ช่วยสนับสนุนงานด้านโลจิสติกส์ภายในโรงงาน คลังสินค้า รวมถึงสายการผลิตอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เราจึงได้นำหุ่นยนต์ AGV นี้มาต่อยอด เข้ากับกลไกการใช้ลำแสง UV-C ฆ่าเชื้อ จนกลายเป็น หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคด้วย UV-C ที่นำมามอบให้ โรงพยาบาลสนามบุษราคัม ในวันนี้ ซึ่งจะมีส่วนในการช่วยลดความเสี่ยงให้บุคลากรทางการแพทย์และพนักงานทำความสะอาดที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลสนามอย่างได้ผล”

“สำหรับกลไกการทำงานของหุ่นยนต์ตัวนี้ คือ สามารถฆ่าเชื้อในพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งจะปล่อยลำแสงฆ่าเชื้อในพื้นที่โล่ง 36 ตารางเมตร ได้ภายใน 30 นาที โดยลำแสง UV-C จะถูกปล่อยมาจากหลอดไฟ 6 หลอดที่ติดไว้ด้านบนตัวรถ จึงฆ่าเชื้อในพื้นที่ที่กำหนดได้อย่างครอบคลุม”

“แต่อย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์ตัวนี้ต้องทำงานในพื้นที่ที่ไม่มีคนอยู่ เพราะตัวลำแสงจะมีอันตรายต่อผิวหนังชั้นบนของมนุษย์ได้ ซึ่งในจุดนี้ ไม่เป็นปัญหากับผู้ใช้งานอยู่แล้ว เพราะผู้ใช้งานสามารถบังคับหุ่นยนต์ตัวนี้ได้ด้วยระบบรีโมทคอนโทรล ทั้งที่ตัวรถและตัวหลอด”

“นอกจากนั้น ยังมีระบบหน่วงเวลา เพื่อให้ผู้ใช้งาน ที่เปิดใช้งานหุ่นยนต์ได้เดินออกห่างจากตัวหุ่นยนต์ก่อนที่หุ่นยนต์จะปล่อยลำแสง UV-C ออกมา และเมื่อหุ่นยนต์จะเริ่มทำการฆ่าเชื้อ ก็ยังมีสัญญาณเสียงเตือนว่าจะเริ่มทำงาน เมื่อทำงานเสร็จในพื้นที่ที่กำหนดก็จะลำแสงก็จะดับอัตโนมัติ ทำให้หุ่นยนต์นี้มีความปลอดภัยกับผู้ใช้แน่นอน”

“และเนื่องจาก แรกเริ่มหุ่นยนต์ตัวนี้ ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่ายในสถานประกอบการอย่าง SMEs หรือ โรงงานขนาดเล็ก โดยให้เคลื่อนที่ได้ด้วยระบบรีโมทคอนโทรลเหมือนรถบังคับทั่วไป เมื่อนำมาใช้ในโรงพยาบาลสนาม ผู้ใช้ก็สามารถใช้งานได้โดยง่ายด้วยเช่นกัน”

“นอกเหนือจาก หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อฯ นี้จะสามารถใช้งานได้ในอุตสาหกรรมการแพทย์แล้ว ในอนาคต หุ่นยนต์ตัวนี้จะเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมอาหาร หรือแม้แต่ในกิจการห้างสรรพสินค้า ดีพาร์ทเมนต์สโตร์ หรือในอาคาร โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ก็สามารถนำหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อฯนี้ไปใช้เพื่อแบ่งเบาภาระและลดความเสี่ยงติดเชื้อของคนทำงานได้”

“ทั้งนี้ สำหรับการทำหน้าที่ของ หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคด้วยลำแสง UV-C นี้ ในโรงพยาบาลสนาม คือ การให้หุ่นยนต์ฯ เข้าไปทำหน้าที่ฆ่าเชื้อในพื้นที่ที่ต้องการ เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ซึ่งจะลดความเสี่ยงสัมผัสกับเชื้อให้กับสำนักงานที่ต้องทำความสะอาดอย่างได้ผล”


ข่าวจาก salika.co