วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ยิ่งทำให้แพลตฟอร์ม AI ฝีมือคนไทย ‘Cira Core’ ซีร่าคอร์ ได้รับความสนใจ เพราะผ่านการพิสูจน์แล้วว่าสามารถนำไปปรับใช้รับมือกับวิกฤตโรคระบาดตามมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดได้จริง ทั้งตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย การพัฒนายา วัคซีน หรือแม้แต่นำมาใช้ในการตรวจสอบคุณภาพของหน้ากากอนามัยให้ได้คุณภาพตรงตามมาตรฐาน ปลอดภัยและเหมาะสมกับการใช้งาน

ทว่า จุดกำเนิดของ Cira Core นั้น มีจุดประสงค์ชัดเจนในการสร้างคุณูปการให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย โดย รศ.ดร.ศิริเดช บุญแสง คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงการทำงานของซีร่าคอร์ว่า

รศ.ดร.ศิริเดช บุญแสง คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)

“ซีร่าคอร์ เป็นแพลตฟอร์มกลางที่ออกแบบให้ทำหน้าที่เชื่อมโยงเทคโนโลยีด้าน AI ส่วนที่ทันสมัยที่สุดซึ่งเรียกว่า ‘Deep Learning’ หรือ การเรียนรู้เชิงลึก เป็นเทคโนโลยีที่เลียนแบบเครือข่ายเซลล์ประสาทในสมองมนุษย์ ทำให้เกิดการเรียนรู้จดจำข้อมูลหรือภาพต่างๆ รวมทั้งสามารถวิเคราะห์ แยกแยะ คาดการณ์ และตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ จึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานในภาคอุตสาหกรรมได้หลากหลาย”

“และซีร่าคอร์ยังเป็นแพลตฟอร์ม Core Technology เทียบได้กับเทคโนโลยีที่คล้ายๆ กัน เช่น ระบบปฏิบัติการแอนดรอยที่เข้าไปอยู่ในสมาร์ทโฟน นาฬิกา กล้องดิจิทัล รวมถึงสมาร์ททีวี โดยเราสามารถสร้างอัลกอริทึมหรือแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น Deep Learning ใส่เข้าไป เพื่อสร้างการเรียนรู้จดจำให้แก่ระบบ”

“เช่น สร้างให้จดจำว่าซองจดหมายรูปร่างหน้าตาเป็นแบบนี้ หลังจากเรียนรู้จดจำแล้ว เมื่อนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมก็ต้องมีการสั่งงาน อาทิ การสั่งหุ่นยนต์ให้หยิบซองจดหมายรูปแบบนี้ออกจากสายพาน เป็นต้น ดังนั้น Cira Core จึงเป็นแพลตฟอร์มกลางที่เชื่อมโยงแอปพลิเคชันต่างๆ ไปสู่การใช้งานจริง หรือเป็นตัวกลางระหว่างการเรียนรู้จดจำความคิดไปสู่การสั่งงานนั่นเอง”

“หรือในช่วงที่โควิด-19 ระบาด ก็มีการนำ Cira Core มาใช้ร่วมกับกล้องถ่ายวีดีโอที่จับภาพผู้คนในสถานที่ต่างๆ โดย Cira Core ทำหน้าที่คิดและวิเคราะห์ปริมาณความหนาแน่นของประชากรที่เข้าไปอยู่ในสถานที่ต่างๆ หากไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing ระบบ Cira Core ก็จะสามารถส่งสัญญาณเตือนผ่านแอปลิเคชัน Line เพื่อแจ้งเตือนให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่เสี่ยง”

ด้วยประสิทธิภาพที่กล่าวมานี้ ทำให้ในวันนี้ซีร่าคอร์ได้รับการนำไปปรับใช้ในภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างกว้างขวาง และเนื่องจากแพลตฟอร์มอัจฉริยะนี้ผลิตโดยนักวิจัยไทย จึงมีสนนราคาที่เอื้อมถึง ไม่แพงเหมือนการซื้อแพลตฟอร์ม AI จากต่างประเทศมาใช้

จากจุดเด่นที่ได้รับการยอมรับนี้เอง ที่ไปเข้าตา บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (TKK CORPORATION) บริษัทผู้จัดจำหน่ายสินค้าแบรนด์ระดับโลกที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับเพื่อนำมาใช้ในระบบควบคุมการผลิตอัตโนมัติในโรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีความสนใจที่จะพัฒนาให้แพลตฟอร์ม AI สัญชาติไทยนี้ ได้รับการนำไปใช้ในวงกว้างกว่าเดิม ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เท่านั้น หากแต่ธุรกิจในขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs หรือแม้แต่สตาร์ทอัพ ก็สามารถใช้แพลตฟอร์มนี้ได้ด้วย จึงจับมือกับ รศ.ดร.ศิริเดช ผู้คิดค้นแพลตฟอร์มนี้ ตั้ง บริษัท ซีร่า ออโตเมชั่น แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด (CIRA AUTOMATION AND TECHNOLOGY CO., LTD.) ขึ้น

โมเดลธุรกิจนี้จะมีความน่าสนใจอย่างไร และคุณูปการที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือนี้จะส่งผลในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมได้อย่างไร ต้องไปหาคำตอบจากบทความนี้กัน

ได้เวลาประกาศให้โลกรู้ว่า แพลตฟอร์ม AI ของไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก ถ้าได้รับการพัฒนาอย่างถูกทาง

ดังที่ได้เกริ่นมาแล้วว่าจุดเด่นของซีร่าคอร์ คือ การนำไปปรับใช้ได้ในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างหลากหลาย รศ.ดร.ศิริเดช ได้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเพิ่มเติม รวมถึงที่มาของการคิดค้นแพลตฟอร์มอัจฉริยะนี้เพิ่มเติมด้วยว่า

“ในขั้นต้น ซีร่าคอร์ พัฒนาโดย วิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) “สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมีบริษัทที่ร่วมทุนด้วยอยู่ 3 บริษัท ก็คือ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์รายใหญ่ บริษัท ซีพีเอฟ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยสตีลเคเบิล จำกัด (มหาชน)”

“แพลตฟอร์มซีร่าคอร์นี้ได้นำไปทดลองใช้จริงในภาคอุตสาหกรรม เมื่อ 3 ปีก่อน ด้วยโมเดลการขาย License ให้หลายแบรนด์ เช่น โตโยต้า เอสซีจี ฟอร์ด ซึ่งได้รับผลตอบรับว่าสามารถนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่แพ้แพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับภาคอุตสาหกรรมไทยได้ไม่น้อย”

“เพราะ License แพลตฟอร์ม AI ของต่างชาติ ราคาอยู่ที่ประมาณ 7-8 แสนบาท ขณะที่ License ของซีร่าคอร์ เราขายในราคาที่ถูกกว่าหลายเท่าตัว แล้วใช้ได้ Unlimited ด้วย”

อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนาและต่อยอดแพลตฟอร์ม AI ของไทย ในมุมมองของ รศ.ดร.ศิริเดช จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนให้ถูกทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจัยต่างๆต่อไปนี้

หนึ่ง : เงินทุนในการทำวิจัยและศึกษา

การจะได้แพลตฟอร์ม AI Cira Core สิ่งที่สำคัญในเบื้องต้น คือ เงินทุนในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย โดยสำหรับ Cira Core เราได้รับเงินทุนทั้งจาก สกสว. วช. และบริษัทต่างๆ

สอง : บุคลากรที่มีความรู้ด้านการสร้างแพลตฟอร์ม AI

บุคลากรที่ทำด้านแพลตฟอร์ม AI ต้องเป็นโปรแกรมเมอร์ที่ทุ่มเทและมีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านนี้จริงๆ ซึ่งต้องยอมรับว่าในตอนนี้ประเทศไทยเรายังขาดแคลน

สาม : ระยะเวลาในการศึกษา วิจัย ลองผิดลองถูก

สำหรับการนำ แพลตฟอร์ม AI ที่คิดค้นขึ้นนี้ ไปใช้ ทางผู้ร่วมทุนต้องมีความอดทนรอ เนื่องจาก ต้องมีการทดลองใช้ ถ้าพบปัญหาอะไร ทางทีมผู้วิจัยก็ต้องมาปรับแก้ ดังนั้น ระยะเวลา จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพของไทย

ฟังมุมมองการสร้างธุรกิจ พลิกนวัตกรรมภาคการศึกษา เป็นพลังพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย

ทาง กัลยาณี คงสมจิตร ประธานกรรมการ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด มองว่าถึงช่องทางในการต่อยอด แพลตฟอร์ม Cira Core ให้เป็นแพลตฟอร์มอัจฉริยะที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมของไทย ซึ่งช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ ไม่ต้องไปซื้อ License แพลตฟอร์ม AI จากต่างประเทศ เพราะแพลตฟอร์ม AI “Cira Core” ก็มีประสิทธิภาพไม่น้อยหน้าเลย

โดย กัลยาณี ได้เปิดเผยถึงแนวคิดที่ทำให้เกิดความร่วมมือในการจัดตั้ง (CIRA AUTOMATION AND TECHNOLOGY CO., LTD.) ว่า

“ที่ผ่านมา ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น ทำงานอยู่ใกล้ชิดกับลูกค้าซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมในไทยมานาน เพราะเราเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าแบรนด์ของต่างชาติมากกว่า 10,000 แบรนด์ ที่เกี่ยวกับระบบออโตเมชันและหุ่นยนต์ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยแพลตฟอร์ม AI ในการทำงาน ลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะต้องไปซื้อ License ของแพลตฟอร์มนี้จากแบรนด์ของประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา แล้วก็แบรนด์ยุโรป”

“โดยตลอดเวลาร่วม 20 ปี ลูกค้าชาวไทยไม่เคยได้สัมผัสกับแพลตฟอร์ม AI ที่ผลิตโดยคนไทย เป็นแบรนด์ไทยเลย กอปรกับ ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น เอง ก็เป็นบริษัทคนไทย ถือหุ้นโดยคนไทย เราจึงมีความตั้งใจที่อยากนำเสนอแพลตฟอร์ม AI ของคนไทย ที่มีประสิทธิภาพไม่แพ้แพลตฟอร์มของต่างชาติให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยได้ใช้ ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าของเราก็เป็นลูกค้า Corporate ระดับ International ที่บริหารงานโดยชาวต่างชาติในประเทศไทย”

“ทั้งนี้ สิ่งที่เห็นในแบรนด์ Cira Core คือ การมาตอบโจทย์ให้กับยุคสมัยนี้ที่ภาคอุตสาหกรรมต้องลดทั้งเรื่องของต้นทุน ลดค่าแรง และปรับเอานวัตกรรมเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้มากขึ้น และ Cira Core เป็นแบรนด์ที่ค่อนข้างเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพที่ทุกภาคอุตสาหกรรมยอมรับ”

“นอกจากภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แล้ว ทาง ทีเคเค ยังมองว่าแพลตฟอร์ม Cira Core สามารถช่วยให้ภาคธุรกิจที่เป็น SMEs ไปจนถึง สตาร์ทอัพ ได้เข้าถึงเทคโนโลยีล้ำสมัย ที่จะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตได้ ด้วยราคาค่า License ที่เอื้อมถึง เพราะปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ถ้าเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก มักจะไม่มีทุนสูงและไม่มีแรงงานเฉพาะทาง อยากปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติอุตสาหกรรมจะติดขัดเรื่องเงินทุน”

“อย่างการจะปรับจากอุตสาหกรรม 3.0 ให้เป็น 4.0 นวัตกรรมหนึ่งที่ตอบโจทย์เลย คือ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ แต่ในบ้านเรา ยังมี SMEs น้อยราย ที่จะเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ ด้วยราคาที่แพง ส่วนในภาคอุตสาหกรรมที่ผ่านมา ก็มักจะพึ่งพาแพลตฟอร์ม AI ที่เป็นแบรนด์ต่างประเทศ ไม่มีแบรนด์ของคนไทยเลย ไม่ว่าจะเป็นอเมริกาหรือญี่ปุ่น ยิ่งตอนนี้มีมีแบรนด์จีนเข้ามาตีตลาดในราคาที่ถูกมากด้วย”

“ถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป เราจะหนีไม่พ้นที่จะต้องพึ่งพาแบรนด์ต่างชาติ โดยเฉพาะซอฟต์แวร์และแพลตฟอร์ม ก็เป็น Know how ของต่างชาติทั้งหมด เมื่อระบบมีปัญหาก็ต้องรอบุคลากรของแบรนด์นั้นมาแก้ปัญหาให้ เท่ากับเรายืมจมูกเขาหายใจตลอดเวลา”

“แต่ถ้ากลับกัน วันนี้มีแพลตฟอร์ม Cira Core ซึ่งเป็นแบรนด์คนไทย เราสามารถเลือกหุ่นยนต์อะไรก็ได้ ผลิตโดยชาติใดก็ได้ แล้วใส่โปรแกรม Cira Core เข้าไป ด้วยวิธี Plug-in Controller ก็ทำให้หุ่นยนต์ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมได้”

“นอกจากนั้น การเขียนโปรแกรมเพื่อควบคุมระบบอัตโนมัติ หรือ หุ่นยนต์ ก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น เพราะ Cira Core เป็นเทคนิคที่เรียกว่า Drag and Drop Technique จึงใช้งานง่ายขึ้นมาก ต่อจากนี้ไป ถ้ากิจการใดต้องการใช้หุ่นยนต์ ก็อาจลงทุนแค่หุ่นยนต์จากประเทศจีน ที่มีประสิทธิภาพ แถมราคาถูก จากนั้นก็ใส่โปรแกรม Cira Core ลงไป หุ่นยนต์นั้นก็ทำงานได้อย่างที่เราต้องการแล้ว”

“แล้วที่ผ่านมาทาง ทีเคเค ดำเนินธุรกิจตามปรัชญาว่าเราจะเลือกสิ่งที่คุ้มค่าที่สุดให้กับลูกค้า ไม่ใช่สิ่งที่แพงที่สุด และ ทีเคเค ต้องการขยายธุรกิจที่ไม่ได้มุ่งแต่ลูกค้าที่เป็นภาคอุตสาหกรรมหรือบริษัทขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องการนำเสนอแพลตฟอร์ม Cira Core แพลตฟอร์มคนไทยที่มีประสิทธิภาพและราคาจับต้องได้ให้กับกลุ่มธุรกิจ SMEs ด้วย โดยเรามองว่า แพลตฟอร์ม Cira Core จะสามารถตอบโจทย์ธุรกิจตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้เป็นอย่างดี”

เปิดโมเดลธุรกิจ ‘ซีร่า ออโตเมชั่น แอนด์ เทคโนโลยี’ ความหวังใหม่ในการพัฒนา งานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง ที่จับต้องได้จริง

สำหรับโมเดลธุรกิจ ของ บริษัท ซีร่า ออโตเมชั่น แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด รศ.ดร.ศิริเดช ย้ำชัดว่าเป็นโมเดลที่มาตอบโจทย์ Pain point ของการต่อยอดงานวิจัยในมหาวิทยาลัยในเชิงพาณิชย์อย่างชัดเจน

“ที่ผ่านมาของการทำวิจัยในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะทางวิศวะหรือไอที หัวใจสำคัญ คือ การต่อยอดเป็นธุรกิจ ซึ่งตรงนี้มันเป็นจุดตายของประเทศไทย คำว่า “จุดตาย” ในที่นี้ ผมต้องการสื่อถึง Mindset ของอาจารย์หรือนักวิจัย ที่มักจะหยุดอยู่แค่การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมขึ้นมา โดยหลงลืมไปว่าเทคโนโลยีที่เราพัฒนามาได้นี้ ไม่ว่าจะดีแค่ไหนก็ตาม ถ้ามันไม่ได้ถูกเอาไปต่อยอดในเชิงธุรกิจ ก็จะอยู่แค่บนหิ้งเท่านั้น”

“แต่ถ้าอยากให้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ภาคการศึกษาคิดค้นขึ้นมานั้นได้ต่อยอดไปใช้งานได้จริง ต้องอาศัยภาคเอกชนหรือภาคธุรกิจที่เข้าใจในผลิตภัณฑ์ เข้าใจตลาด และทางทีเคเค คอร์ปอร์เรชั่น เข้าใจในจุดนี้ดี เพราะว่าระหว่างทางที่จะทำเทคโนโลยีให้มันสามารถอยู่ในตลาดได้ ต้องมีการลองผิดลองถูก ไม่ใช่มันออกจากแล็บแล้วใช้ได้เลย”

“เพราะเมื่อออกจากแล็บปุ๊บก็ต้องผ่านการนำไปทดลองใช้ ถ้าลูกค้าไม่ชอบ ทีมนักวิจัยก็ต้องนำมาแก้ไขและต้องใช้เวลาในการปรับแก้จนแน่ใจว่างานวิจัยนั้นมีประสิทธิภาพดีที่สุดและพร้อมใช้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งด้วยการใช้เวลาดังที่กล่าวมานี้ทำให้นักธุรกิจและนักลงทุนน้อยคนที่จะมาลงทุนและสนับสนุนงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง ต้องอาศัยนักธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์ มองการณ์ไกลจริงๆ”

“ทั้งนี้ สำหรับ Cira Core ถือว่าเราโชคดีมาก ที่ทางคุณกัลยาณี จาก ทีเคเค คอร์ปอร์เรชั่น มีความสนใจในการพัฒนาและเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ นำแพลตฟอร์ม Cira Core ไปบุกเบิกตลาดในเชิงพาณิชย์ เพราะด้วยความที่ทีมวิจัยของเราก็ทำงานในฐานะสถาบันการศึกษา จึงมีจุดด้อยในการทำธุรกิจ ถึงแม้ที่ผ่านมาจะขาย License ให้กับหลายบริษัท แต่ในเรื่องของการทำการตลาด เรื่องเซลส์ เซอร์วิสหลังการขาย ต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถดูแลลูกค้าก็ไม่ทั่วถึง ดังนั้น การร่วมมือกับทาง ทีเคเค คอร์ปอเรชัน ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่เราจะได้รับการเติมเต็มในทุกด้านที่กล่าวมา”

“และจากการพูดคุย ทางคุณกัลยาณี ซีอีโอของ ทีเคเค คอร์ปอเรชัน ก็เห็นถึงศักยภาพของ Cira Core และมีความตั้งใจที่จะทำให้แพลตฟอร์มของคนไทยนี้ขยายวงกว้างไปในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจทุกระดับ รวมถึงได้มองว่าจะขยายไปยังตลาดต่างประเทศด้วย”

เพื่อให้เห็นภาพ โมเดลธุรกิจนี้ยิ่งขึ้น กัลยาณี ซีอีโอของทีเคเค คอร์ปอเรชั่น อธิบายเพิ่มเติมว่า

“สำหรับโมเดลธุรกิจของ Cira Tech นับเป็นโมเดลที่น่าสนใจมาก เพราะเราจะแบ่งธุรกิจออกเป็น 3 ส่วนหลัก

ส่วนแรก ธุรกิจนี้จะเปิดโอกาสให้ทางทีมผู้บริหารและคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ นั่นคือ หน้าที่ในการวิจัยและพัฒนา  เพื่อสร้างงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้างอย่าง Cira Core นี้ให้ได้มากขึ้น ส่วนหน้าที่ในด้านการทำตลาด ติดต่อและดูแลลูกค้า ทาง ทีเคเค จะเป็นผู้มาดูแลตรงนี้”
ส่วนที่สอง จะเป็นบทบาทและหน้าที่ของภาคเอกชน อย่าง ทีเคเค โดยเราเองอยู่ใกล้ชิดกับลูกค้าอยู่แล้ว จึงเข้าถึงความต้องการ รู้ถึง Pain point ต่างๆของตลาด ไม่ว่าจะเป็นทางฝั่งลูกค้า ฝั่งผู้ผลิต และสามารถเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนให้ได้ ด้วยฐานลูกค้าเราก็ค่อนข้างที่จะแน่นมาก มีลูกค้าอยู่ในมือร่วม 5,000 แอคเคาต์ ที่เป็นลูกค้าในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ จึงสามารถขยายเอา Cira Core ไปนำเสนอและปรับใช้ในภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม”
“และที่ผ่านมา ทีเคเค ดูแลแต่ตลาดต่างชาติ ลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นชาวต่างชาติทั้งหมด แต่วันนี้ด้วยศักยภาพที่ผนวกรวมกันได้ระหว่าง ทีเคเค และ ทีมนักวิจัย Cira Core จาก สจล. ทำให้เราสามารถนำเอา Know how นี้มาส่งต่อให้กับ SME ไทยนำไปใช้พัฒนาธุรกิจของพวกเขาได้ ในราคาที่ทุกคนเอื้อมถึง”

“ส่วนที่สาม เป็นส่วนของ Training ที่มีความพิเศษก็คือ เราจะร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเป็น Non-Commercial License คือ ไม่เก็บเงินค่า License ถ้าเป็นการใช้เพื่อการศึกษา เราพร้อมจะให้ฟรี อบรมให้ฟรี สอนฟรี”

“โดยล่าสุดเราได้ตั้งศูนย์อบรมแล้วที่ MARA หรือ สถาบันพัฒนาบุคลากร สาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ซึ่งใช้ชื่อว่า ซีร่า มาร่า อะเคเดมี เราคาดว่าจะฝึกอบรมเกี่ยวกับการใช้ Cira Core แบบครบวงจรที่นี่ โดยทาง ซีร่า เทค จะเป็นผู้สนับสนุนทั้งหมด ทั้งอุปกรณ์ ซอฟแวร์ และวิทยากร”

“นอกจากนั้น เรายังได้วางแผนว่าจะขยายศูนย์อบรมไปยังแต่ละภูภาคทั่วไทยด้วย ไม่ว่าจะเป็นทางภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคใต้ เพื่อให้บริการกับกลุ่มบุคลากรในภูมิภาคนั้น ได้ไป Upskill Reskill กัน”

“นอกเหนือจากโมเดลธุรกิจทั้ง 3 ส่วนที่กล่าวมาแล้ว กัลยาณี ยังเผยถึงอีกโมเดลสำคัญที่เป็นต้นแบบในการช่วยขับเคลื่อนภาคสตาร์ทอัพ โดยได้เปิดบริษัท Start-Up ที่ ซีร่า เทค เป็น Joint venture และ สจล.กับ ทีเคเค จะไปถือหุ้นในบริษัท Start-Up ขนาดเล็กนี้ ซึ่งจะเปิดกว้างให้น้องๆหลายคนที่ตอนนี้เรียนจบแล้ว แต่ยังไม่มีงานทำ มาทำงานร่วมกันในโปรเจ็กต์นี้ เพื่อบ่มเพาะความเป็นผู้ประกอบการ หรือ Entrepreneurship ให้พวกเขา โดยมีทาง ทีเคเค และ ทีมอาจารย์จาก สจล. เป็นพี่เลี้ยง”

ความร่วมมือ คือ ขุมทรัพย์ขับเคลื่อนให้ทุกฝ่ายโตไปได้ด้วยกัน

ในตอนท้าย เมื่อถามว่า การเกิดขึ้นของ บริษัท ซีร่า ออโตเมชั่น แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาในด้านใดให้สังคมไทยได้บ้าง ซีอีโอหญิงแกร่งแห่ง ทีเคเค กล่าวว่า

กัลยาณี คงสมจิตร ประธานกรรมการ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ข่าวจาก salika.co