วิกฤตโรคระบาดครั้งล่าสุดได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะในส่วนของวงการแพทย์และสาธารณสุข ที่มีการปรับเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น กอปรกับกระแสด้านบุคลากรทางการแพทย์ที่มีไม่เพียงพอ ขณะที่บุคลากรที่ทำงานอยู่ก็ต้องแบกรับภาระงานที่หนักขึ้น ก็ยิ่งเป็นตัวเร่งให้เทคโนโลยีล้ำสมัยอย่าง หุ่นยนต์และ AI รวมถึงระบบอัตโนมัติได้รับการนำมาปรับใช้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมทุกภาคส่วนของการให้บริการทางการแพทย์ด้วยเช่นกัน

และแน่นอนว่าในโรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์ขนาดใหญ่ที่สุดในระดับประเทศอย่าง โรงพยาบาลศิริราช ก็ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั้งในช่วงวิกฤตโควิดและประสบปัญหาการขาดแคลนบุคการทางการแพทย์ ทำให้บุคลากรที่ทำงานอยู่ต้องแบกรับภาระงานที่ค่อนข้างหนัก ด้วยเหตุนี้ จึงทาง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลมหิดล จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ปรับเอา หุ่นยนต์และ AI มาใช้ เพื่อช่วยเสริมการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพมาตั้งแต่ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิดแล้ว

จนกระทั่งในวันนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลมหิดล ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะสานต่อให้เกิดการปรับใช้เทคโนโลยี หุ่นยนต์และ AI ในทางการแพทย์ และระบบสาธารณสุขอย่างเป็นรูปธรรม ครอบคลุมการให้บริการทุกด้านของโรงพยาบาลศิริราช นอกจากนั้น ยังนำสู่การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ ร่วมกันในอนาคตด้วย

ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

เปิดที่มาและความสำคัญของการปรับเอา หุ่นยนต์ และ AI ระบบอัตโนมัติ มาใช้ยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ในยุคดิจิทัลของ ศิริราช

ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงที่มาและวัตถุประสงค์ของความร่วมมือครั้งสำคัญ ซึ่งเป็นต้นแบบของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาวงการแพทย์และสาธารณสุขไทยว่า

“ในวันนี้ กล่าวได้ว่า ในแต่ละวันที่โรงพยาบาลศิริราช เรามีจำนวนคนไข้เข้ามารับบริการจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ยังมีหน้าที่หลักในการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศ และแน่นอนที่สุด เรายังมีหน้าที่ในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ผ่านกระบวนการทำวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งที่ผ่านมา ศิริราช ได้แสดงถึงความมุ่งมั่นในเจตนารมณ์ที่เราจะทำให้ศิริราชเป็นสถาบันหลักในการสร้างผลงานวิจัยทางการแพทย์ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย”

“ดังนั้น ในวันนี้ เราเชื่อมั่นว่าศิริราชจะไม่หยุดนิ่งในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อมาดูแลผู้ป่วยให้ดีขึ้น รวมถึงในการทำการเรียนการสอนเพื่อผลิตบุคลากรทางการแพทย์ นี่จึงทำให้เราต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤตโควิด ทำให้เราได้ปรับเอาเทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ มาช่วยให้การบริการทางการแพทย์สะดวกขึ้น แม่นยำขึ้น ปลอดภัยขึ้น และผู้รับบริการก็มีความประทับใจมากขึ้น”

“ทั้งนี้ ที่กล่าวมาเพื่อแสดงให้เห็นว่าศิริราชเรามีความเชี่ยวชาญและรู้ถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในการเข้ารับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะผู้ที่ต้องรับมือกับปัญหาคือบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมด ขณะที่ ทาง ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น ก็มีความรู้ ความสามารถ ในการนำเสนอเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติ การปรับใช้หุ่นยนต์บริการ หรือ Service Robot รวมถึงการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์”

“ดังนั้น ผมมีความมั่นใจว่าการลงนามบันทึกข้อตกลงของทั้ง 2 องค์กรในวันนี้จะเกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งจะสานต่อสู่การสร้างนวัตกรรมที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้คน รวมทั้งเราสามารถที่จะแลกเปลี่ยนทรัพยากรในด้านต่างๆด้วยกัน ที่จะทำให้เกิดผลดี จนสร้างให้เกิดตัวอย่างของความร่วมมือกันของภาครัฐและเอกชนที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน”

รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมบริการและคุณค่าองค์กร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ศิริราช กับความพร้อมในการ Transform การให้บริการทางแพทย์สู่ยุคดิจิทัลครบวงจร

ด้าน รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมบริการและคุณค่าองค์กร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวเสริมถึงความร่วมมือดีๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ว่า

“ในช่วงที่ผ่านมา มีผู้มาเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลศิริราช โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุที่เพิ่มจำนวนขึ้นมาก รวมถึงความถี่ในการมาโรงพยาบาล ก็เพิ่มมากขึ้น ทว่า เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้แต่บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลไม่ได้เพิ่มขึ้นตามอัตราส่วนที่มีผู้เข้ารับบริการเพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด”

“เพราะฉะนั้นทางการแพทย์เราก็จะเกิดปัญหาในเรื่องของสมดุลของความต้องการระหว่างฝั่งดีมานด์ นั่นคือ ผู้ป่วยที่เดินทางมารักษาพยาบาล และฝั่งซัพพลาย นั่นคือ บุคลากรทางการแพทย์ และในเมื่อเราเพิ่มบุคลากรไม่ได้ ดังนั้นต้องมาคิดแล้วว่าแล้วจะทำอย่างไรให้บุคลากรทำงานได้สะดวกขึ้น และมีงานอะไรที่ไม่ต้องใช้ Human Touch หรืองานอะไรที่มีลักษณะทำซ้ำๆ งานที่ต้องอาศัยความจำ งานเหล่านี้เราสามารถใช้หุ่นยนต์ หรือ AI มาช่วยแบ่งเบาภาระงานลงได้ เช่น งานส่งเอกสาร หรืองานตอบคำถามที่อาจเป็นคำถามซ้ำจากผู้เข้ารับบริการ”

“ทั้งนี้ ทาง บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ก็เป็นบริษัทชั้นนำที่มีความสามารถในเรื่องของออโตเมชั่น หุ่นยนต์ และ AI เราจึงได้มาร่วมมือกันระหว่าง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการแพทย์ และในแต่ละวันโรงพยาบาลศิริราช ยังต้องทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยจำนวนมาก”

“ดังนั้น น่าจะเป็นการดี ที่เราจะนำจุดแข็งของทั้ง 2 ฝ่าย มาปรับใช้ในการพัฒนาฟังก์ชั่นของ AI ทางการแพทย์ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างสิ่งใหม่ๆ ที่สามารถนำไปต่อยอด ตอบโจทย์การทำงานของการแพทย์และสาธารณสุขไทยได้มากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มผลิตภาพของบุคลากรทางการแพทย์ และความถูกต้องแม่นยำได้อย่างเป็นรูปธรรม”

“ทั้งนี้ แน่นอนว่าถ้าทำได้เช่นนี้ บุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์และพยาบาล ก็จะมีเวลาไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น ในลักษณะ Hi tech และ Hi touch ที่เกิดขึ้นควบคู่กันไปอย่างกลมกลืน”

“โดยหลังจากได้ลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะเกิดการปรับเอาหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ รวมทั้ง AI ไปปรับใช้ในหลายภาคส่วนงานของศิริราชอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ในการรับส่งยา เวชภัณฑ์ การส่งเอกสารต่างๆ ก็จะใช้หุ่นยนต์ในการรับส่งมากขึ้น ซึ่งมีข้อดีตรงที่หุ่นยนต์สามารถทำงานได้ตลอด ต่อเนื่อง ไม่มีความเหนื่อยล้าเหมือนมนุษย์”

“และแน่นอนว่าเมื่อมีการปรับเอาหุ่นยนต์มาใช้ ก็ย่อมลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้มีเวลาให้ผู้ป่วยมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีการนำหุ่นยนต์ไปปรับใช้ในงานตอบคำถาม หรือ Greeting เวลาผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับบริการทางการแพทย์ ซึ่งหุ่นยนต์สามารถให้ข้อมูลและนำทางไปยังที่ต่างๆ ที่สำคัญได้”

“ในอนาคตเรายังได้วางแผนร่วมกันว่า จะพัฒนาหุ่นยนต์ร่วมกัน ให้เป็น หุ่นยนต์ผู้ช่วยพยาบาล เช่น หุ่นยนต์ที่มีหน้าที่เดินตามพยาบาลเพื่อให้ข้อมูล คอยส่งของ หยิบจับ สิ่งของต่างๆ ที่ทำให้พยาบาลสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วขึ้น ทำให้พยาบาลสามารถทำงานได้มากขึ้น ถูกต้อง แม่นยำกว่าเดิม”

“นอกจากนั้น ในวันนี้ ทาง ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น ยังได้มอบ License แพลตฟอร์ม Cira core ซึ่งถือว่าเป็นแพลตฟอร์ม Transformer อย่างหนึ่ง ที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่มีความรู้ในด้านการเขียน AI แต่สามารถใช้งานได้ โดยการสอนและป้อนคำสั่งให้ Cira core ทำงานแทน และตอบคำถามสำคัญ สร้างความเข้าใจให้กับผู้ป่วยแทนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีไม่เพียงพอ ซึ่งถ้าทำได้เช่นนี้ ย่อมเป็นการช่วยเพิ่มทักษะ ความสามารถให้บุคลากรทางการแพทย์ในด้าน AI ด้วย”

“เพราะต้องยอมรับว่า AI ในยุคนี้ เป็นเทคโนโลยีที่มาเปลี่ยนแปลงโลกอย่างแท้จริง และยังได้รับการพัฒนาให้ฉลาดมากขึ้น ทำให้ AIสามารถทำงานได้หลายอย่างทดแทนมนุษย์ได้ “

“อย่างในโรงพยาบาล ทุกวันนี้ เราสามารถให้หุ่นยนต์หรือระบบ AI ในการนำทางผู้ป่วยที่มาเข้ารับบริการว่า วันนี้จะมารับบริการในด้านใดบ้าง เมื่อมาแล้วต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง โดยหุ่นยนต์สามารถแนะนำผู้ป่วยได้ทันที และเมื่อได้รับข้อมูลของจำนวนผู้ป่วยมาก็จะรวบรวมส่งไปวิเคราะห์ได้ว่าจะเกิดคอขวด หรือ มีจำนวนผู้เข้ารับบริการมากในส่วนไหน เมื่อรู้แล้วก็สามารถจัดบุคลากรให้มารองรับกับปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ทันเวลา ทำให้การทำงานของทุกฝ่ายในโรงพยาบาลประสานกันได้ดีมากขึ้น รวมไปถึงนำ AI ไปใช้ในการบริหารจัดการจำนวนเตียง จำนวนคนไข้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย”

กัลยาณี คงสมจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด

TKK พร้อมเดินหน้า จับมือศิริราช ส่ง หุ่นยนต์ AI ระบบอัตโนมัติ เปลี่ยนโฉมวงการแพทย์และสาธารณสุขไทย

กัลยาณี คงสมจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้กล่าวถึงความร่วมมือครั้งสำคัญกับการเป็นพันธมทิตรร่วมสร้างความแข็งแกร่งให้กับโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐและโรงเรียนแพทย์อันดับหนึ่งของไทยว่า

“ความร่วมมือระหว่าง ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น และ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันนี้ ถือเป็นความร่วมมือที่จะส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนวัตกรรมทางการแพทย์ในด้านต่างๆ ให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างเป็นรูปธรรม และความร่วมมือนี้ยังพร้อมขยายไปเป็นต้นแบบให้กับโรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์ทั่วประเทศด้วย”

“ทั้งนี้ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ในเรื่องของระบบอัตโนมัติอุตสาหกรรมและปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งที่ผ่านมา เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในภาคการแพทย์และสาธารณสุขไทยอย่างมา โดยเฉพาะในการปรับเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการขนถ่าย ยา อาหาร เวชภัณฑ์ เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ตลอดจนแรงงานในภาคบริการก็ขาดแคลนอย่างมาก ทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ และบุคลาการทางการแพทย์ทุกแขนง ต้องทำงานหันหนักมาก”

“ดังนั้น ในฐานะ ที่เราเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รวมถึงเป็นผู้ออกแบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ทางบริษัทสามารถเป็นผู้สนับสนุน ส่งเสริม และช่วยเหลือภาคการแพทย์และสาธารณสุขไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการต่อยอดและพัฒนาร่วมกัน และหลังจากที่ได้ลงนามความร่วมมือกับการ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในวันนี้แล้ว ก็จะมีการนำแพลตฟอร์ม AI ปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงหุ่นยนต์บริการ มาใช้โดยการหาจุดเชื่อมโยงที่จะสานต่อสู่ผลงานวิจัยใหม่ๆ ได้ในอนาคต”

“ทั้งนี้ ก่อนมาถึงวันนี้ที่ได้ลงนามความร่วมมือกันระหว่าง ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น และ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เราได้มีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในสนามจริง คือ ในโรงพยาบาลศิริราช มาแล้วร่วม 1 ปี ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากจากบุคลากรทางการแพทย์ที่มีโอกาสได้ใช้และทำงานร่วมกับหุ่นยนต์นี้”

“โดยที่ผ่านมา เราได้มีการนำหุ่นยนต์ไปใช้รับส่งยาในแผนกฉุกเฉิน ซึ่งแผนกนี้เป็นส่วนที่มีผู้ป่วยเข้ามารับบริการหนาแน่นมาก จากสถิติล่าสุดของโรงพยาบาลศิริราช พบว่า มีผู้ป่วยนอกมาใช้บริการในส่วนนี้มาถึง 8,000 ราย ต่อวัน”

“รวมถึงที่ผ่านมา เรายังได้นำไปใช้ในส่วนของ การแพทย์แผนไทย ที่มีผู้ป่วยเข้ารับบริการมากเช่นกัน ซึ่งในยุคนี้กลุ่มผู้ป่วยไม่ได้จำกัดอยู่แค่กลุ่มผู้สูงอายุ แต่คนในวัยทำงานที่มีอาการออฟฟิศซินโดรม จนเกิดอาการเมื่อยล้า หรือเป็นอาการเครียด กดดัน ก็มาหาหมอในส่วนของแพทย์แผนไทยเช่นกัน”

“ดังนั้น ในส่วนของการให้บริการแพทย์แผนไทยในศิริราช หุ่นยนต์ก็เข้ามามีส่วนช่วยบุคลากรด้วยเช่นกัน นั่นคือ การรับส่งลูกประคบให้กับแพทย์ในเวลาตรวจรักษา ซึ่งเดิมมีการใช้บุคลากรเดินรับส่งลูกประคบ แต่เมื่อให้หุ่นยนต์มาทำแทน ก็จะมีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระแพทย์ ทำให้แพทย์มีเวลาในการใกล้ชิดกับผู้ป่วยมากขึ้น มีการให้บริการที่ดีขึ้น ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้นกว่าเดิม”

“ทั้งนี้ เราไม่ได้หยุดแค่การปรับเอาหุ่นยนต์มาใช้ในการรับส่งเครื่องมือ อุปกรณ์ เวชภัณฑ์ ต่างๆเท่านั้น แต่หุ่นยนต์สามารถทำหน้าที่ได้มากกว่านั้น ยิ่งถ้าเรานำหุ่นยนต์หรือระบบ Robotic มาปรับเข้ากับระบบ AI เพื่อให้การใช้งานเป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น หลายส่วนของงานบริการทางการแพทย์ก็จะสามารถมาตอบโจทย์ให้กับประชาชนได้ โดยเฉพาะการทำให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่งเราเชื่อมั่นว่านี่คือโอกาสใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน”

“และในวันนี้ ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น ก็มีความยินดีที่จะมอบ License AI Platform เพื่อให้ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้นำไปใช้ โดยต่อไปทางทีเคเค ก็จะจัดการอบรมให้กับ นักศึกษาแพทย์ ที่ในยุคนี้นอกจากจะต้องมีความรู้ในด้านการวินิจฉัยโรคแล้ว ในการแพทย์องค์รวม นักศึกษาแพทย์ยังต้องมีความรู้เกี่ยวกับ AI ซึ่งจะมาทำหน้าที่เหมือนเป็นผู้ช่วยแพทย์ มาเสริมให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคหรืออาการได้อย่างแม่นยำ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น ความร่วมมือในวันนี้จึงมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน”


ข่าวจาก salika.co